ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจปูนซีเมนต์เอาไว้ได้ และธุรกิจเม็ดพลาสติกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แนวโน้มยังสะท้อนถึงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35%-40% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัททีพีไอ โพลีน ก่อตั้งในปี 2530 โดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ณ เดือนสิงหาคม 2557 ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 56% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทดำเนินธุรกิจ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และคอนกรีต) และธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก (LDPE และ EVA) บริษัทมีรายได้ในปี 2556 อยู่ที่ 2.83 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็น 71% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจเม็ดพลาสติกคิดเป็น 24%
สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังผลิตที่ 9 ล้านตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 18% บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต กระเบื้องหลังคาคอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ และคอนกรีตมวลเบา โดยความต่อเนื่องในสายการผลิตปูนซีเมนต์ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่ผันผวนถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์
บริษัทเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA รายใหญ่ของประเทศด้วยกำลังการผลิตที่ 158,000 ตันต่อปี ในปี 2556 บริษัทมีสัดส่วนทางการตลาดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ LDPE อยู่ที่ 20% และปัจจุบันเป็นผู้ผลิต EVA รายเดียวในประเทศ บริษัทเน้นการผลิต EVA เพื่อส่งออกเป็นหลัก ธุรกิจเม็ดพลาสติกของบริษัทมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทซื้อวัตถุดิบ Ethylene จากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตลอดจนความ
ท้าทายจากสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการแข่งขันจากผู้ผลิตทั่วโลกด้วยเช่นกัน บริษัทไม่มีข้อจำกัดในการซื้อ Ethylene จากผู้จำหน่ายรายปัจจุบันเพียงรายเดียว แต่ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพิงผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวสะท้อนให้เห็นถึงประวัติการมีแหล่งซื้อ Ethylene ที่น้อยเกินไป อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อาจผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับการถ่วงดุลโดยรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ EVA
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นหลังจากที่บริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างบริษัททั้งกับสถาบันการเงินไทยและต่างประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี 2556 ถึงเก้าเดือนแรกของปี 2557 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นของราคาปูนซีเมนต์และ LDPE รวมถึงส่วนต่างราคาที่กว้างขึ้นของ LDPE รายได้ของบริษัทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 เท่ากับ 2.29 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสี่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ 11.6% เมื่อเทียบกับอัตรากำไรที่ 11.1% ของช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
ในอีก 3 ปีข้างหน้า ประมาณการของทริสเรทติ้งในกรณีฐานคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2558 โดยมีแหล่งรายได้ใหม่จากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ธุรกิจโรงไฟฟ้า กระเบื้องหลังคาคอนกรีต ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบา ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโตปีละ 10%-20% ในระหว่างปี 2558-2559 และจะอยู่ที่ประมาณ 3.8-4.0 หมื่นล้านบาทหลังจากทุกโครงการเริ่มดำเนินงานอย่างเต็มที่ อัตราส่วนกำไรคาดว่าจะยังคงอยู่ในช่วง 10%-13% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงกังวลว่าอุปทานใหม่ที่เกิดจากโครงการปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 อาจนำไปสู่การแข่งขันในด้านราคาสำหรับตลาดภายในประเทศและจะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อกำไรของบริษัทได้
บริษัทได้วางแผนจะลงทุนประมาณ 2.2-2.3 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2556 และ 2558 โดยกว่า 60% จะเป็นการลงทุนในโครงการปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 7.2% ณ สิ้นปี 2555 เป็น 31.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 โดยคาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นการลงทุนในโครงการต่าง ๆ แล้ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 35% ซึ่งยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่บริษัทได้รับ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า สภาพคล่องของบริษัทซึ่งวัดด้วยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอ่อนตัวลงในช่วงปี 2557 และ 2558 แต่จะดีขึ้นหลังจากบริษัทเริ่มชำระหนี้ในปี 2559 เงินกู้ที่บริษัทจะต้องผ่อนชำระจะมีจำนวนประมาณ 5 พันล้านต่อปีในระหว่างปี 2559 และ 2560 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับเกินกว่า 3 เท่า
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TPIPL165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
TPIPL177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
TPIPL187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable