ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ วิทยากรบรรยายพิเศษ จากการจัดงานของ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The International Conference on Veterinary Science” (The 39th ICVS 2014) ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี นนทบุรี กล่าวภายหลังการบรรยายว่า ความสำคัญในการพูดมีหลายประการ
1. ประเด็นในเรื่องเศรษฐกิจอาเซียน อุตสาหกรรม การส่งออก การเกษตร เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับด้านปศุสัตว์ เหล่าสัตวแพทย์พูดคุยกันว่าทำอย่างไรจะเป็นการเพิ่มพลังให้อาเซียนการดูแลสัตว์ การรักษาสัตว์ โรคภัยไข้เจ็บของสัตว์ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือเป็นมาตรฐานของโลกควรจะมีการรักษาที่ดีขึ้น
2.ประชาคมอาเซียนควรจะเลิกกีดกันสินค้าเกษตร สินค้าปศุสัตว์จะสังเกตพบว่าประเทศใหญ่ในอาเซียนจะไม่ยอมให้มีการเปิดตลาดเสรี สิ่งเหล่านี้ไม่ช่วยในการพัฒนาการเกษตรการปศุสัตว์
3. ข้อสังเกตในการลงทุนภาคการเกษตรทั้งในไทย และโลกการลงทุนลดลงไปมากนักลงทุนมักจะลงทุนด้านไอที เงินช่วยเหลือด้านการเกษตรลดลง นอกจากนี้ยังมีการนำพื้นที่ภาคเกษตรไปใช้เพื่อการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก
4.ความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่ง UN ให้ความสำคัญมาก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนควรจะมองเรื่องนี้ให้ความสำคัญด้วย
สำหรับในปี 2558 คาดว่าวงการปศุสัตว์ มาตรฐาน สุขอนามัยจะดีขึ้นมากกว่านี้ สินค้าด้านปศุสัตว์จะขยายตัวมากขึ้น และควรจะเพิ่มคุณภาพเฉพาะด้านเช่น GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จะทำให้สินค้าเกิดมีคุณค่ามากขึ้น ทั้งนี้จะต้องมีการจดทะเบียนรับรองให้ถูกต้องทางพาณิชย์ในประเทศไทย และในต่างประเทศ สินค้าเกษตรตัวอื่นเช่นกุ้ง การทำประมง ยังคงมีสิ่งที่ต้องปรับมากกว่าด้านปศุสัตว์ จะสังเกตเห็นว่าการกีดกันทางการค้า มักจะแสดงให้เห็นว่าสินค้ามีสิ่งเจือปน ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น เหล่านี้เป็นการกีดกัน ดังนั้นต้องมาสู่การเจรจาทางการค้า
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยไปต่างประเทศ ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าการส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้น อีกไม่นานน่าจะมีเป็น 200,000 บาทต่อปี คุณภาพสินค้าด้านปศุสัตว์ไม่ว่าจะเป็นไก่,เนื้อ,สุกรมาตรฐานการส่งออกได้ระดับ ขณะนี้มีการดำเนินการ ประสานความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว (Thai One Health Network) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และภาคี พัฒนาความร่วมมือด้านสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในการทำงาน
การจัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ครั้งที่ ๓๙ ในครั้งนี้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระ บรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมวิชาชีพสัตวแพทยศาสตร์แห่งแรกของประเทศ มีภาระหน้าที่สำคัญคือเป็นสื่อกลางของกลุ่มคนในวิชาชีพ และระหว่างสัตวแพทย์กับประชาชน การประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติในระดับภูมิภาคอาเซียนภายใต้แนวความคิด“Empowering the ASEAN towards the New Era of AEC” ที่อาศัยความร่วมมือจากองค์กรระดับชาติและนานาชาติ ต่างๆ ร่วมจัดสัมมนาวิชาการและเพื่อเป็นเวทีให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ในสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจด้านการดูแลสัตว์เลี้ยงและการผลิตสัตว์เชิง อุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นประสานกำลังกันในการเพิ่มขีดความสามารถของวิชาชีพสัตวแพทย์ และเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม