นายอนันต์ ชูโชติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เนื่องด้วยเป็นสถาบันที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งนักวิจัย นักวิชาการ รวมทั้งเครือข่ายชาวบ้านและชุมชนที่สามารถนำแนวทางการศึกษาวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดี ที่ชายแดนใต้ เพื่อบริการวิชาการ ด้านวัฒนธรรมแก่ชุมชน และผ่อนคลายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน และความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์กมล คงทอง ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว จะดำเนินการผ่านรูปแบบนิทรรศการ สาธิต ทดลอง และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมผ้าในท้องถิ่นชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยกิจกรรม การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรม เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ ” โดยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
การแสดงทางวัฒนธรรม, การแสดงโขนเยาวชนต้นแบบจังหวัดปัตตานี, สนทนา “คนทำหนัง” กับผู้สร้าง ผู้กำกับ และดาราจากภาพยนตร์ เรื่องละติจูดที่ ๖ และชมภาพยนตร์เรื่องละติจูดที่ ๖ ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำภายในจังหวัดปัตตานี ตัดต่อพิเศษ เพื่อคนปัตตานีก่อนฉายในโรงภาพยนตร์, การแสดงคอนเสิร์ตคืนความสุขให้คนตานี โดย ตุด นาคอน, เก่ง The Voice, วงใต้สวรรค์ และวงแฮมเมอร์, การแสดงดนตรีออเคสตร้าวงเยาวชนเทศบาลนครยะลา, การแสดงดนตรีวงบุญรอด เจ้าของรางวัลชนะเลิศรายการประกวดวงดนตรี The Band Thailand และการเสวนา “คนประดิษฐ์คิดลายผ้าสู่อาภรณ์” และการเดินแฟชั่นโชว์ จากกลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมผ้าจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนจำหน่ายสินค้าและนิทรรศการ “ผ้าดี ที่ชายแดนใต้” กว่า ๒๐ คูหา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ บริเวณรอบหอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี