- ตั้งเป้าผลทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ภายใน 1 ปี
- ผลักดัน “จตุจักรโมเดล” ต้นแบบการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างครบวงจรและยั่งยืน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้พร้อมเป็นต้นแบบแก่พื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ต่อไป
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตจตุจักร มูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย และมูลนิธิจิตอาสา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการ Recycle 360º รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล” หรือ โครงการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลแบบครบวงจรในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร ในระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากโครงการในระยะแรกที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วระหว่างปี 2554 – 2556 ด้วยงบประมาณการดำเนินการจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย รวม 4 ล้านบาท โดยมุ่งขยายโครงการไปสู่อีก 6 กลุ่มเป้าหมาย คือชุมชนและหมู่บ้าน สถานศึกษา อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรม รวม 34 แห่ง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการในระยะแรก รวมถึงทำงานต่อเนื่องร่วมกับกลุ่มเป้าหมายเดิม เพื่อต่อยอดความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งพัฒนาให้ “จตุจักรโมเดล” มีความสมบูรณ์แบบด้านการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างครบวงจรและยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบแก่พื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพมหานครต่อไป
นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ปริมาณมูลฝอยในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองที่ก่อให้เกิดมูลฝอยตลอดเวลา โดยในปี 2556 กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยสูงถึงกว่า 3.6 ล้านตันต่อปี หรือกว่า 9,900 ตันต่อวัน ด้วยเหตุนี้ การจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างเป็นระบบ โดยให้ประชาชนร่วมคัดแยกและกำจัดอย่างถูกต้องถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว กรุงเทพมหานครรู้สึกยินดีที่โครงการ Recycle 360๐ รักโลก...ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล ที่นำร่องในแขวงจตุจักรช่วยให้สิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ดีขึ้น ประหยัดงบประมาณในการจัดการมูลฝอย รวมถึงสร้างรายได้ให้กับประชาชน และดีใจที่ในวันนี้ได้มีการขยายโครงการสู่ระยะที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และจตุจักรโมเดลมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”
นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนคือหนึ่งในแนวคิดและกรอบการทำงานหลักด้านความยั่งยืนของโคคา-โคลา โดยเรามุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลใหม่ ภายใต้โครงการ Recycle 360º รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการในระยะยาวเพื่อให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึก อันจะเป็นการกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ และเราเชื่อว่าด้วยงบประมาณสนับสนุนรวม 4 ล้านบาทจากโคคา-โคลา และการทำงานร่วมกันกับกรุงเทพมหานครและมูลนิธิจิตอาสาที่มีความชำนาญที่ต่างกันจะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน”
นางสาวจารีวรรณ กาวิรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการ มูลนิธิจิตอาสา กล่าวว่า “จากการที่มูลนิธิจิตอาสาทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครในการจัดการมูลฝอยมาเป็นเวลานาน ทำให้เราเข้าใจองค์ประกอบต่างๆ และพฤติกรรมของประชาชนเป็นอย่างดี เราเชื่อว่า การดำเนินการที่มีการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเน้นที่ประชาชน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในการลดอัตราส่วนปริมาณมูลฝอย และเพิ่มปริมาณวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกของคนในสังคมไทย”
โครงการ Recycle 360º รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิลในระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึง เดือนกันยายน 2558 รวมระยะเวลา 360 วัน ตั้งเป้าหมายไว้ดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณมูลฝอยที่จะนำไปกำจัดลงร้อยละ 40 เพิ่มอัตราการรีไซเคิลและนำมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 30 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการกำจัดมูลฝอยลงร้อยละ 30 และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลในพื้นที่แขวงจตุจักร 1 แห่ง ด้านเศรษฐกิจ รายจ่ายในครัวเรือนลดลงร้อยละ 10 จากการใช้ประโยชน์จากมูลฝอย และรายได้จากการใช้ประโยชน์จากมูลฝอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้านสังคม กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกต่อการจัดการมูลฝอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 มีความพึงพอใจต่อโครงการมากกว่าร้อยละ 80 และมีส่วนร่วมในการจัดการมูลฝอยมากกว่าร้อยละ 50
ภายใต้กรอบการทำงาน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิโคคา-โคลา และมูลนิธิจิตอาสา จะร่วมกันศึกษารูปแบบและผลการดำเนินงานของโครงการในระยะที่ 1 เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานในระยะที่ 2 สำรวจสภาพแวดล้อมและบันทึกข้อมูลมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รณรงค์และให้ความรู้การคัดแยกและนำมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ ภายใต้หลักการ 3R’s หรือ reduce, reuse และ recycle สร้างวิทยากรชุมชนและเครือข่ายอย่างน้อย 20 คนเพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ภายในและภายนอกชุมชน พัฒนารูปแบบการจัดการและจัดเก็บมูลฝอยของชุมชนต้นแบบในพื้นที่ที่มีการกำหนดนัดวันทิ้งและนัดวันเก็บ และการประเมินผลหลังเสร็จสิ้นโครงการ โดยจะมีการทำงานต่อเนื่องกับกลุ่มเป้าหมายเดิมที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อพัฒนา “จตุจักรโมเดล” ให้เป็นต้นแบบที่มีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง