ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่” ที่ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

พุธ ๒๔ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๓๐
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทอันเนื่องมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย รวมทั้งผลงานที่ผ่านมาในฐานะผู้รับจ้างผลิต

หม้อแปลงชนิดพิเศษที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกลยุทธ์ของผู้บริหารของบริษัทในการใช้เครื่องจักรในการผลิต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายของประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงจากการมีลูกค้าที่กระจุกตัว และราคาวัตถุดิบที่ผันผวน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่อ่อนตัวจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าขั้นปลายกลุ่มสำคัญในตลาดส่งออกของบริษัทนับว่าเป็นปัจจัยกังวลสำหรับอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถปรับเพิ่มอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้แม้ในภาวะที่มีการแข่งขันรุนแรงหรือมีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ทั้งนี้ หากระดับหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อฐานะทางการเงินและอันดับเครดิตของบริษัทได้

บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ก่อตั้งในปี 2539 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment –MAI) ในเดือนกรกฎาคม 2554 โดย ณ เดือนกันยายน 2557 นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และครอบครัว มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 63% บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้าของตนเองคือ “QTC”

โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มการใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าซึ่งช่วยลดเวลาในการผลิต รวมทั้งลดการพึ่งพาแรงงานที่มีทักษะ และลดต้นทุน ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทผ่านการทดสอบการทนต่อการลัดวงจรจากสถาบัน CESI ประเทศอิตาลี และสถาบัน KEMA ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่หลากหลาย อาทิ มาตรฐาน ISO 9001, มาตรฐาน ISO 14001, มาตรฐาน OHSAS 18001 และมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าที่ขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1-30,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 72 กิโลโวลต์ (kv)

รายได้ของบริษัทในปี 2556 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย 95% ของรายได้รวม จากหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง 1% และมาจากงานบริการ 2% ในปี 2556 ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าคิดเป็น 34% ของรายได้รวม บริษัทเอกชน 43% และลูกค้าภาคการส่งออก 20% บริษัทมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนานกับตัวแทนส่งออกรายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดรับจ้างผลิตของบริษัท ส่งผลให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าเหมืองแร่และกลุ่มลูกค้าธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทพึ่งพิงลูกค้าหลักเพียง 3 ราย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) และตัวแทนส่งออกในประเทศออสเตรเลีย 1 ราย

อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายของประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีผู้ผลิตในประเทศประมาณ 25 ราย อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตทั้งหมดเป็นผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งไม่สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพสูง ทำให้ไม่สามารถประมูลงานกับรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ สำหรับตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศมีกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจคือ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้ใช้รายใหญ่เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าเอกชนซึ่งได้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม อาคารขนาดใหญ่ และโครงการสาธารณูปโภค ก็ล้วนเป็นกลุ่มที่มีความต้องการหม้อแปลงชนิดพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะและมีคุณภาพสูงไว้วางใจได้ทั้งสิ้น

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ โดยการประท้วงที่เริ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 ส่งผลกระทบให้งานประมูลของภาครัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว นอกจากนี้ รายได้จากตลาดส่งออกของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศออสเตรเลียด้วย ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในปี 2556 อยู่ที่ 804 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับปี 2555 รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 383 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ทั้งนี้ กฟภ. ยังคงไม่เปิดประมูลงานมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ทำให้รายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจลดลงอย่างมาก โดยอยู่ที่ระดับเพียง 22 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เทียบกับ 149 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 เนื่องจากบริษัทมีคำสั่งซื้อที่มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2557 ประมาณ 360 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้รวมของบริษัทในปี 2557 ลดลงเพียงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2556

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทอ่อนตัวลงจาก 18.8% ในปี 2555 เป็น 16.6% ในปี 2556 และลดลงเป็น -2.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อัตราส่วนกำไรที่ลดลงมากมีสาเหตุมาจากการลดลงในสัดส่วนรายได้ของกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในงานภาคเอกชน นอกจากนี้ รายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจก็มีอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไม่ซับซ้อนและมีปริมาณสั่งซื้อจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 10% ณ สิ้นปี 2557 เนื่องจากบริษัทมีงานที่รอส่งมอบจำนวนมากซึ่งรวมถึงงานของ กฟน. บางส่วนซึ่งบริษัทประมูลได้ในเดือนตุลาคม 2557

สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในช่วงปี 2551-2556 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับมากกว่า 75% และ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเกินกว่า 15% อย่างไรก็ตาม จากผลประกอบการที่อ่อนตัวลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 28.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)

ภาระหนี้ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่เกิน 30% ในช่วงปี 2551-2556 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 32.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 เนื่องจากมีสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตและรอการส่งมอบจำนวนมาก หนี้สินรวมของบริษัทคาดว่าจะลดลงในช่วงปลายปีเมื่อมีการผลิตและส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนักจากการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน แต่เนื่องจากบริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ดังนั้น หากการขยายธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บริษัทควรพิจารณาการกู้ยืมแบบสินเชื่อโครงการซึ่งอาจใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน (Ring-fence Financing) หรือการเพิ่มทุนบางส่วนเพื่อรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสม

บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (QTC)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม