การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการระบายข้าว

พฤหัส ๒๕ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๒:๔๘
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามคำร้องขอให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกจากตำแหน่ง และกรณีกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 และปี 2553 ว่าเป็นไปโดยล่าช้า นั้น

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนี้

1. กรณีกล่าวหา นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อนุมัติจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่อนุมัติขายข้าวสารให้บริษัท วุฒิกวี จำกัด และบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งที่อยู่ในกลุ่มผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่าการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลเป็นการขายส่งข้าวสาร และมีการเสนอซื้อ/ขายตามราคา ณ หน้าคลังสินค้า ซึ่งผู้ซื้อต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นค่าขนส่งในการรับมอบข้าวจากคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้าและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร โดยที่การจัดเก็บสต็อกข้าวสารของรัฐบาล ได้จัดเก็บในต่างสถานที่และต่างสภาพกันในแต่ละคลังสินค้า ดังนั้น การกำหนดราคาขายจึงต้องหักค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลาง และค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เพื่อนำมาคำนวณเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ณ หน้าคลังสินค้าด้วย ทำให้ราคาข้าวสารในแต่ละชนิดและแต่ละคลังสินค้ามีการกำหนดราคาขายที่ต่างกัน และมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด และปรากฏข้อเท็จจริงว่านางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อนุมัติจำหน่ายข้าวสารให้กับบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้ว แต่บริษัท วุฒิกวี จำกัด เคยมีประวัติละทิ้งการเสนอราคา จึงไม่อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารให้แก่บริษัทดังกล่าว ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด

2. กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทุจริตในการระบายข้าวสารในสต็อก ของรัฐบาล เมื่อปี 2553 เกี่ยวกับพฤติกรรมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ นโยบายข้าวแห่งชาติ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการ นโยบายข้าวแห่งชาติ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณา

ระบายข้าวสาร และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ใน 4 ข้อกล่าวหา ดังนี้

ข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเพียงบางราย และกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

ข้อกล่าวหาที่ 2 กรณีผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย อนุมัติให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

ข้อกล่าวหาที่ 3 กรณีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และนายมนัส สร้อยพลอย กระทำการระบายข้าวสาร ในสต็อกของรัฐบาลโดยดำเนินการในทางลับ

ข้อกล่าวหาที่ 4 กรณีนางพรทิวา นาคาศัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด เนื่องจาก นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้นำแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 25,000,000 บาท มาวาง ค้ำประกันการทำสัญญาของบริษัทฯ กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาที่ 1 – 3 ปรากฏว่าในการดำเนินการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลเมื่อเดือนมกราคม 2553 และเดือนกุมภาพันธ์ 2553 วิธีการระบายข้าวสารโดยการออกประกาศ เชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ได้ก่อให้เกิดกระแสข่าวที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อราคาข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลต้องหยุดชะงัก และเสียโอกาส ในการระบายข้าวสารในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารโดยให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวในปริมาณมากเสนอขอซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาล ซึ่งการระบายข้าวสารด้วยวิธีดังกล่าวได้เคยมีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2546 ก่อนแล้ว และได้กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาซื้อและคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศ ของผู้เสนอราคาซื้อด้วย และหากผู้เสนอราคาซื้อรายใด มีคำสั่งซื้อข้าวสารจากลูกค้าต่างประเทศ ก็สามารถยื่นเสนอขอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลได้ นอกจากนี้ การระบายข้าวสารโดยวิธีให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล เป็นวิธีการระบายข้าวสารที่อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารที่ได้กำหนดแนวทางไว้ให้สามารถทำได้ และได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว เป็นวิธีการระบายข้าวสารที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณและราคาข้าวในตลาดภายในประเทศ

ส่วนกรณีที่จำหน่ายข้าวสารต่ำกว่าราคาตลาด เนื่องจากการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เป็นการขายส่งข้าวสาร และมีการเสนอซื้อ/ขายตามราคา ณ หน้าคลังสินค้า ซึ่งผู้ซื้อมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นค่าขนส่งในการรับมอบข้าวจากคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และโดยที่การจัดเก็บสต็อกข้าวสารของรัฐบาล ได้จัดเก็บในต่างสถานที่และต่างสภาพกันในแต่ละคลังสินค้า ดังนั้น การกำหนดราคาขายจึงต้องหักค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลางและค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เพื่อนำมาคำนวณเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ณ หน้าคลังสินค้า ด้วยทำให้ราคาข้าวสารในแต่ละชนิดและแต่ละคลังสินค้ามีการกำหนดราคาขาย ที่ต่างกัน และมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดซึ่งการจำหน่ายข้าวสารในครั้งนี้ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับบริษัท ที่เสนอราคาซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้เท่านั้น และเมื่อพิจารณาราคาขายหลัง การเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาซื้อทุกรายแล้ว ปรากฏว่าล้วนมีการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น

สำหรับประเด็นที่กล่าวหาว่า นายมนัส สร้อยพลอย มีหนังสือแจ้งให้องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ดำเนินการระบายข้าวสารในทางลับ ตามที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มีบัญชา นั้น เป็นเรื่องที่นายมนัส สร้อยพลอย ได้แจ้งให้องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ดำเนินการในทางลับเกี่ยวกับการทำสัญญา การส่งมอบ รับมอบ และขนย้ายข้าวสารออกจากคลังสินค้า ตามอำนาจหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อไม่ให้ตกเป็นข่าว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ มิให้องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เปิดเผยในเรื่องของปริมาณข้าวสารและราคาจำหน่ายข้าวสาร เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวสาร เท่านั้น และเป็นการแจ้งให้ดำเนินการภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติและให้ความเห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อข้าวสารที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว มิใช่มีคำสั่งให้องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ระบายข้าวสารโดยวิธีการลับแต่ประการใด

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 25,000,000 บาท ให้บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด มาวางค้ำประกันการทำสัญญากับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจริง แต่พยานหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่พิจารณาได้ว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน และหากพบว่านางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวก็จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป

3. ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้เร่งรีบดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ