“บันทึกอย่างเป็นทางการที่มีการทำขึ้นเกี่ยวกับแรงงานไทยในอิสราเอลระบุว่า คนไทยที่ถูกจับกุม แยกเป็นกรณียาเสพติด ระหว่างปี ๕๔ ถึง ล่าสุด ๑๐ พ.ย.๕๗ มี ๖๓ คน ปัจจุบันรับโทษ ๑๐ คน ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ๗ คน ใน ๑๐ คนนี้มีโทษสูงสุดจำคุก ๓ ปี ๘ เดือน และพ้นโทษถูกเนรเทศไปแล้ว ๔๖ คน” ดร.นพดล กล่าว
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังปี พ.ศ.๒๕๕๒ ที่เคยจับกุมยาเสพติดได้ ๖๓,๐๐๐ เม็ด และมีการเรียกค่าหัวคิวไปทำงานจำนวน ๓ – ๔ แสนบาท แต่ตอนนี้การจัดแรงงานไทยไปอิสราเอลมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration, IOM) เป็นโครงการที่สหประชาชาติสนับสนุน องค์กรนี้ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลครอบคลุมกว่า ๑๕๐ ประเทศ มีหน้าที่คัดกรองแรงงานไทยไปอิสราเอล ขจัดค่าหัวคิวในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่แรงงานไทยปัจจุบันจ่ายไม่เกิน ๗ หมื่นบาท
“แรงงานไทยทุกคนต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพบว่า มีเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและคนเหล่านั้นก็ถูกห้ามเดินทางไปและล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ส. ช่วยตรวจสอบใหม่หมดทุกคน พบว่าในกลุ่มแรงงานไทยที่กำลังทำงานอยู่ในอิสราเอลมีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด นอกจากนี้ ข้อมูลผลสำรวจแรงงานไทยในอิสราเอลและครอบครัวของพวกเขา พบว่า ประมาณร้อยละ ๙๐ มีการส่งเงินเดือนกลับบ้านทุกเดือนและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ป.ป.ส. มากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในทางลึก แก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยให้หมดไป” ดร.นพดล กล่าว
โทร. ๐๘๖-๐๗๑-๖๕๖๕ หรือ เบอร์ ๐๒-๒๓๒-๑๐๔๔