ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและจำเป็น โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง 10 เรื่อง และแปลงไปสู่การปฏิบัติเป็นกิจกรรม/โครงการไม่ต่ำกว่า 50 โครงการย่อย มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในรอบ 3 เดือน ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบบริการ 2.การควบคุมป้องกันโรค 3.สร้างความโปร่งใสขององค์กร และ 4.การออกกฎหมายสำคัญเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานสาธารณสุข
ทางด้าน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) โดยมี ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สวรส. ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าตามนโยบายการสนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร (ข้อ 9) โดยเสนอ “การผลักดันกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพ กับ (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ....” สู่บทบาทที่ครอบคลุมทุกมิติงานวิจัยด้านสุขภาพของประเทศ
จากสาระสำคัญของการนำเสนอความก้าวหน้าของ สวรส. ได้ชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่สังคมจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกฎหมายใหม่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของงานวิจัยด้านสุขภาพ ตั้งแต่งานวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐาน ไปจนถึงการวิจัยระบบสาธารณสุข ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ของปัญหาสุขภาพในอนาคต พร้อมสามารถบูรณาการทั้งในระดับนโยบาย แหล่งทุนวิจัย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยหรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการประเมินผล ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเกิดการสร้างนักวิจัยที่เป็นบุคลากรสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน การส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยสุขภาพที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี (Well being) รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่จะช่วยสร้างรายได้และความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่ประเทศ (Wealth)
ทางด้าน สาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ นั้น จะแบ่งเป็น“บทบาท” ที่ครอบคลุมทุกมิติงานวิจัยด้านสุขภาพ ได้แก่ วิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิจัยทางคลินิก วิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ วิจัยระบบสุขภาพ วิจัยทางสาธารณสุขและสังคม และการวิจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายการวิจัยแห่งชาติ
"คณะกรรมการ” กำกับทิศทาง นำสู่การเปลี่ยนเปลง ประกอบด้วย 2 ชุดหลัก คือ 1) คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีจำนวน 16 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทางการวิจัยสุขภาพของประเทศ แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยสุขภาพที่เหมาะสม 2) คณะกรรมการติดตามประเมินผลการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีจำนวน 7 คน ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการบริหารกองทุนและประเมินผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายที่กำหนด
“สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” กลไกหลักขับเคลื่อนการดำเนินงาน มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอเพื่อการกำหนดนโยบายและดำเนินงานด้านการวิจัยสุขภาพเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ดำเนินการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพ การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของนักวิจัย ผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำแผนการติดตามประเมินผลการวิจัยสุขภาพ
ทั้งนี้ ในการผลักดันกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพนั้น ทาง สวรส. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ. ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา และยังอยู่ในกระบวนการเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ต่อคณะกรรมการ สวรส. ในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาสาระ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป