กรมอนามัยชี้อาหารกลางวันนักเรียนต่ำมาตรฐาน แนะ อปท.สร้างครัวกลางจ้างนักโภชนาการตำบล

พฤหัส ๐๘ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๐:๓๓
เด็กไทยมีปัญหาด้านโภชนาการในทุกมิติ พบอาหารกลางวันนักเรียนยังไม่ได้มาตรฐานแม้รัฐทุ่มงบเกือบ 25,000 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียนเติบโตสมวัย พบบางแห่งยังได้ไม่ถึง 20 บาทต่อมื้อ แนะท้องถิ่นตั้งกรรมการตรวจสอบและนำสเปคการจัดอาหารตามมาตรฐานโภชนาการมาใช้ พร้อมหนุน อปท.สร้างครัวกลางและจ้างนักโภชนาการประจำตำบล

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักเรียนไทยมีปัญหาด้านโภชนาการในทุกมิติ เช่น เด็กอ้วนเฉลี่ยร้อยละ 9.5 เด็กผอม-เตี้ย ร้อยละ 7 ขณะที่ไอคิวและอีคิวที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากภาวะโภชนาการและเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งจากการสำรวจนักเรียนใน 33,000 โรงเรียน พบว่าเด็กไทยมีอีคิวต่ำกว่าร้อย โดยพบในเด็กอ้วนมากกว่าร้อยละ 10 ส่วนเด็กผอมเตี้ยไอคิวต่ำมีมากถึงร้อยละ 9.8 ถือว่าต่ำมากในอาเซียน ดังนั้นทางกรมอนามัยจึงให้ความสำคัญกับโภชนาการเด็กเป็นอันดับต้นๆ และในโอกาสวันเด็กแห่งชาติจึงขอให้ชุมชน โรงเรียน ร่วมกันดูแลเด็กๆ ลดอาหารหวานมันเค็มเพื่อให้เด็กๆ โตสมวัย

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ทางกรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยมี แนวทางในการหนุนเสริมและเฝ้าระวังการบริหารจัดการคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมกับเสนอ 4 แนวทางให้ท้องถิ่นดำเนินการ คือ 1) จัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือนักโภชนาการจากโรงพยาบาล, เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ 2) นำมาตรฐาน (Spec) การจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยมาใช้ในการจัดซื้อหรือจ้างเหมาบริการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน 3) มีการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการนักเรียนทุก 6 เดือน โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการติดตามทุกเดือน และ 4) มีการควบคุม กำกับ ติดตาม การดำเนินงาน ทุก 6 เดือน

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานอย่างต่อเนื่องตามโครงการ ทำให้สังคมมองเห็นปัญหาภาวะโภชนาการของเด็กไทยมากขึ้น ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการจากวันละ 13 บาทต่อคน เพิ่มเป็นวันละ 20 บาทต่อคน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ซึ่งใช้งบประมาณเกือบสองหมื่นห้าพันล้านบาท (24,775,999,200 บาท) ส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศประมาณหกล้านคน (จำนวน 5,800,469 คน) ได้รับประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามหากจะให้งบประมาณเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะรับไปบริหารจัดการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก

“จากการติดตามงานของกรมอนามัยพบว่ามีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้รับการโอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาทจาก อปท.หรือโอนเงินล่าช้ามาก ทำให้นักเรียนขาดโอกาส ไม่ได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ทางโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใคร่ขอวิงวอนให้ อปท.โอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาทให้ทันเวลา เพื่อนักเรียนจะได้กินอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมตามวัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ส่วนโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ร่วมโครงการกว่า 500 โรงเรียนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการอาหารและโภชนาการไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อาหารกลางวันนักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการสุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัย ทำให้ภาวะเตี้ยในนักเรียนลดลง 1.3 เท่า จากร้อยละ 6.0 ในปี 2552 ลดลงเหลือร้อยละ 4.7 ในปี 2556 ส่วนภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับคงที่ คือร้อยละ 11. แต่ถ้าหากมีการควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้ตามมาตรฐานร่วมกับการส่งเสริมพฤติกรรมการกินอาหารลดหวานมันเค็ม เพิ่มการกินผักผลไม้ และการออกกำลังกายของนักเรียนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากกว่านี้ เชื่อว่าภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในนักเรียนจะลดลงได้ตามเป้าหมายของประเทศ คือไม่เกินร้อยละ 10

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวตอนท้ายว่า ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียน กรมอนามัยได้ค้นพบรูปแบบในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิผล คือการมีครัวกลาง หรือครัวประจำท้องถิ่นที่มีแม่ครัวและนักโภชนาการประจำอยู่ โดยนำงบประมาณทั้งหมดมารวมกัน และควบคุมคุณภาพเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เมื่อปรุงอาหารเสร็จก็จัดส่งไปตามโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดต้องการแนวปฏิบัตินี้ ทางกรมอนามัยยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้

นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ทาง สสส. ได้ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นภาคีกับกรมอนามัยโดยตลอด เพราะ สสส.มีเป้าหมายและตัวชี้วัดการส่งเสริมภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กวัยเรียนไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมา สสส. และกรมอนามัยได้ร่วมกันค้นหานวัตกรรมและรูปแบบการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียน โดยเน้นบทบาทของชุมชนและท้องถิ่น ให้เป็นเจ้าของและใช้ทรัพยากรของตนเองมาบริหารจัดการให้เด็กในชุมชนได้รับการดูแลด้านโภชนาการ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ค้นพบและอยากผลักดันให้ทุก อปท. และชุมชน ขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั่วประเทศนั้นมีมากมายหลายชิ้นงาน แต่ที่ต้องเร่งรัดคือ 1) พัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นและชุมชนให้มีความตระหนักและมีศักยภาพในการบริหารจัดการงานโภชนาการในชุมชน 2) เร่งรัดการพัฒนาคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างจริงจัง โดยการส่งเสริมให้มีครัวกลางในท้องถิ่นที่มีความพร้อม และจัดจ้างให้มีนักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในระดับตำบล และเทศบาล 3) ควรบรรจุงานอาหารและโภชนาการเข้าไว้ในแผนพัฒนาตำบลและหันมาลงทุนสร้างลูกหลานตนเองให้มีโภชนาการสมวัย ไม่ผอม เตี้ย อ้วน อีกต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ