นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมกราคม 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.61 จุด จากเดือนธันวาคม 2557 มาอยู่ที่ระดับ 58.33 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 50 จุดหรือคงมุมมองว่าทองคำในประเทศเดือนมกราคมมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ลงทุนทองคำและกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทและความต้องการทองคำช่วงเทศกาลสำคัญต้นปีนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจที่กดดันตลาดทุนและอาจใช้ทองคำเป็นแหล่งพักเงินชั่วคราว ด้านปัจจัยลบมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทำให้ความวิตกการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าและแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงต่อเนื่อง
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดหลังฟื้นตัวในการจัดทำช่วงปลายปี 2557 โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 47.87 จุด ลดลงจากการจัดทำเดือนก่อน 11.30 จุด สะท้อนมุมมองต่อราคาทองคำไตรมาสสองเป็นเชิงลบตามความวิตกการขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ
ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ประธานคณะทำงานศูนย์วิจัยทองคำ ด้านบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่มีมุมมองต่อราคาทองคำในช่วงเดือนมกราคม 2558 ในเชิงบวก โดยมีผู้ค้า 4 รายมองทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนธันวาคม 2557 ขณะที่อีก 2 รายเชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงระหว่างเดือน
โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,220-1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,120-1,140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 17,000-18,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทองคำยังจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นต่อปัจจัยสำคัญ 10 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในปี 2557 โดยจัดลำดับสำคัญดังนี้
1. สงครามน้ำมัน 40.82%
2. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 38.78%
3. ค่าเงินบาทอ่อนตัว 31.63%
4. มหากาพย์ ยูเครน-รัสเซีย 30.61%
5. ปีแห่งการลด QE 30.61%
6. เศรษฐกิจจีนทรุดหนัก 26.53%
7. Polar Vortex ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ 21.43%
8. BOJ กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม กดทองดิ่ง 16.33%
9. ความเป็นไปได้ในการใช้ QE ของ ECB 16.33%
10. ประชามติธนาคารกลางสวิสเซอแลนด์ 16.33%