ผันผวนของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทยเอาไว้ได้ สำหรับระยะ 1-2 ปีข้างหน้านั้น โอกาสที่บริษัทจะได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสที่จะลดระดับลงหากบริษัทไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่ม ExxonMobil หรือหากกลุ่ม ExxonMobil ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ ExxonMobil บริษัทบริหารจัดการโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 1 แห่งจากทั้งหมด 24 แห่งของ ExxonMobil ที่มีอยู่ทั่วโลก บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2437 และเริ่มดำเนินงานโรงกลั่นน้ำมันในปี 2514 ณ เดือนมีนาคม 2557 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทประกอบด้วย กลุ่ม ExxonMobil ในสัดส่วน 66% และกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 7% บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ด้วยกำลังการกลั่นสูงสุดที่ 174,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดในประเทศไทย บริษัทจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ให้แก่กลุ่มลูกค้าพาณิชย์และจำหน่ายผ่านสถานีบริการในเครือข่าย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 มีสถานีบริการน้ำมันที่บริหารงานภายใต้เครื่องหมายการค้า “เอสโซ่” จำนวน 519 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายสารอะโรเมติกส์โดยมีโรงงานเชื่อมต่อกับโรงกลั่นน้ำมันด้วย โรงงานอะโรเมติกส์ของบริษัทมีกำลังการผลิตสารพาราไซลีน (Paraxylene – PX) จำนวนทั้งสิ้น 500,000 ตันต่อปี
สถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานผลิตอะโรเมติกส์ซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และด้วยเทคโนโลยีและการดำเนินงานตามปรัชญาของ ExxonMobil จึงส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงกลั่นชั้นนำที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก และมีหน่วยผลิตที่มีความพร้อมสูง นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายของ ExxonMobil ที่มีอยู่ทั่วโลกในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ในปี 2556 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่บริษัทกลั่นได้ประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 36.7% น้ำมันเบนซิน 16.8% รีฟอร์เมต (Reformate) 13.0% น้ำมันเตา 9.7% น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 9.0% และอื่น ๆ 14.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมียอดจำหน่ายน้ำมันผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันของบริษัทมากเป็นอันดับ 3
สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาน้ำมันและอุปทานส่วนเกินของ PX ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้ของบริษัทลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็น 175,446 ล้านบาท จาก 181,293 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เนื่องจากผลของราคาน้ำมันและราคา PX ที่ลดลง รวมถึงจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงเนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ในเดือนมิถุนายนและกลางเดือนกันยายน ยอดขายของบริษัทในสัดส่วน 90% มาจากธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4,536 ล้านบาท โดยบริษัทมีค่าการกลั่นลดลงจาก 4.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เป็นติดลบ 0.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งทำให้ธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมันของบริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,917 ล้านบาท สำหรับอัตรากำไรของธุรกิจปิโตรเคมีนั้นยังคงได้รับผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของ PX ซึ่งทำให้ส่วนต่างของราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์และราคาต้นทุนวัตถุดิบลดลง ธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัทจึงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,619 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่าจะทำให้บริษัทขาดทุนจากสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 นั้นคาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบจะลดลง 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยลดลงจากราคาเฉลี่ยที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2557 มาอยู่ที่ประมาณ 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม 2557 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเนื่องจากบริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงจากผลของราคาน้ำมันดิบที่ถูกลง
ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีเงินกู้รวม 37,732 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ อย่างไรก็ตาม เงินกู้ของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 48% เป็นเงินกู้ที่ได้รับจากกลุ่ม ExxonMobil โดยสัดส่วนนี้เพิ่มจากประมาณ 0.5% ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งการสนับสนุนจากกลุ่ม ExxonMobil นี้ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทสำหรับการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายอื่น นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากกลุ่ม ExxonMobil มูลค่า 54,000 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้เบิกใช้ โดยวงเงินนี้จะหมดอายุในปี 2559 และจะได้รับการต่ออายุแบบออกไปอีก 3 ปี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 66.9% และคาดว่าอัตราส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2557 จากการลดลงของส่วนผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผลจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินกู้รวมจะไม่เพิ่มขึ้นจากระดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 เนื่องจากบริษัทมีแนวโน้มในการใช้เงินทุนหมุนเวียนลดลง ทริสเรทติ้งเห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงเหมาะสมกับระดับอันเครดิตในปัจจุบันเนื่องจากการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากกลุ่ม ExxonMobil ในช่วงปี 2558-2560 คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะค่อย ๆ ดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่และอยู่บนสมมุติฐานว่าราคาน้ำมันดิบจะไม่ลดลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ยมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable