สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมและแถลงข่าว Healthy Early Life : สุขภาพดี เมื่อชีวีเริ่มต้น ด้วยวิจัยต้นน้ำสู่มาตรการป้องกัน จุดคลิกวิกฤตสุขภาพไทย โดย รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจาก “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ที่พบว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศแล้ว ในขณะเดียวกันก็แปลกที่พบว่า มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายของเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ หรืออาการสมาธิสั้น-ซุกซน ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง เด็กที่มีอาการออทิสซึม เด็กที่มีปัญหาความพิการในการเรียนรู้ มีผลการเรียนในระดับที่ต่ำ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ
รศ.ดร.นัยพินิจ ตั้งคำถามที่สำคัญว่า “ปัญหาทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับสุขภาวะ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของการปฏิรูปสังคมไทย ฉะนั้นสิ่งที่ท้าทายคือ การหาโจทย์การวิจัยที่ตรงเป้า คำถามที่ชาญฉลาด และวิธีทำการวิจัย และเครือข่ายงานวิจัยที่มุ่งเป้าเพื่อตอบโจทย์ที่จะสามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคปฏิบัติ ทำให้เกิดนโยบายบริหารงาน และป้องกันแก้ไขปัญหาให้บรรเทา”
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การให้ความใส่ใจในการป้องกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกของชีวิต จะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายและประหยัดกว่าการแก้ไขที่ปลายน้ำ การประชุมระดมสมองผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละช่วงอายุของชีวิต ในมุมมองที่หลากหลาย ทั้เพื่อเปิดทางนำไปสู่ประเด็นที่เป็นช่องว่างของการวิจัย หรือ การพัฒนาหามาตรการ ในการดูแลสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของชีวิต
นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าในชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้า เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างของปัญหาสุขภาพในระบบให้กับประชาชนคนไทยในอนาคต หากเกิดชุดโครงการ Healthy Early Life : สุขภาพดี เมื่อชีวีเริ่มต้น ด้วยการกำหนดโจทย์การวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงระบบ ที่นำมาเป็นมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเวทีการประชุมได้ระดมสมองจากนักวิชาการ นักวิจัยและภาคสังคม เพื่อเสนอการป้องกันและแก้ไขปัญหาแต่แรกเริ่ม ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบและระบบที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองในการดูแลตนเองตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ หลังคลอด รวมทั้งการดูแลเด็กเล็กตั้งแต่หลังคลอดจนเข้าสู่วัยรุ่นโดยไม่ต้องอาศัยแพทย์ ตลอดจนมาตรการที่จะสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันที ไม่จำเป็นต้องทำเป็นโครงการวิจัย เพราะบางมาตรการที่นำเสนอข้างต้นอาจเคยหรือกำลังมีการดำเนินงานอยู่ แต่ยังไม่บรรลุผล จึงเน้นย้ำมาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่านำมาใช้ได้จริง สามารถเข้าถึง ดึงดูด และเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น มาตรการโดยรัฐที่บังเกิดผล ให้กลุ่มเป้าหมายได้ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning model) หรือ ผ่านการอบรมการเป็นพ่อแม่ ก่อนสมรส มีบุตร หรือ เมื่อมีบุตรแล้ว การรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ไม่ตกเป็นทาสหรือถูกล่อลวงด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น