เอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “การปรับลดของทัศนคติด้านบวกของธุรกิจไทยในไตรมาสที่ 4 เป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้ในรายงานประจำปี Internal Business Report 2014: Thailand Focus เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เนื่องจากเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับประเทศไทย โดยภายหลังจากช่วงเวลาครึ่งปีแรกที่มีความผันผวน หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้อย่างแม่นยำว่าทัศนคติด้านบวกจะปรับสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 ซึ่งแม้ว่าจะมองได้ว่าเป็นปฏิกิริยาตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจหลังจากที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความผันผวนมาระยะหนึ่งแล้ว ทว่าขณะนี้ธุรกิจกลับเริ่มดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปีนี้ โดยเป็นท่าทีที่เหมาะสมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในปี 2015 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอยู่นั้น มีมากเกินกว่าปัจจัยสนับสนุนในปีนี้ อย่างไรก็ดี เรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจจากทั่วโลก กลายเป็นสิ่งที่เราต่างวิตกกังวลมากที่สุดในปีนี้”
รายงาน IBR เปิดเผยว่าทัศนคติด้านบวกของธุรกิจทั่วโลกสำหรับปี 2557 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 41 เปรียบเทียบกับร้อยละ 28 เมื่อปี 2556 และเพียงแค่ร้อยละ 12 เมื่อปี 2555 อย่างไรก็ตาม สำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 นั้น ทัศนคติด้านบวกปรับลดจากร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 35 โดยได้รับแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาที่มีทัศนคติด้านบวกลดลงร้อยละ 10 มาอยู่ที่ร้อยละ 59 ด้านประเทศจีนลดลงร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 25 และญี่ปุ่นที่ลดลงไปร้อยละ 12 กลายเป็นร้อยละ -12
เอียน กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้เห็นทัศนคติด้านบวกของธุรกิจในระดับที่สูงที่สุดนับจากปี 2550 ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อมองไปภายภาคหน้าแล้ว จะมองเห็นโอกาสมากมายที่จะเกิดวิกฤตการณ์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั่วโลก ความผันผวนในเรื่องราคาน้ำมันนั้นเป็นความวิตกกังวลที่ชัดเจนในตลาดการค้าทั่วโลก หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับลดลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงเวลา 5 ปีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ถูกลงจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้นำเข้าสินค้าและต่อภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตและการคมนาคม เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นปัญหาต่อธุรกิจพลังงานและตลาดการค้าที่สำคัญ อย่างเช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง”
"นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินฝืดในกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่นยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ชนะการเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย โดยมีเวลาอีก 4 ปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาอีกครั้ง แม้ว่านโยบายอาเบะโนมิกส์รอบแรกนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในยูโรโซนก็ไม่ใคร่จะมีการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและแก้ไขได้ยากยิ่ง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกรีซอาจนำมาซึ่งวิกฤตทางด้านหนี้สาธารณะอีกครั้ง ทางด้านประเทศจีนยังมีสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการทรัพยากรธรรมชาติจากละตินอเมริกาและการส่งออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จึงเป็นภาพที่ชัดเจนว่าภาพรวมของปี 2558 นั้นยังคงห่างไกลจากความมีเสถียรภาพ”
ความขาดเสถียรภาพดังกล่าวเป็นภาระที่หนักอึ้งต่อภาพรวมการเติบโตของธุรกิจ โดยภาพรวมทั้งการเติบโตด้านรายรับและด้านผลกำไรได้ปรับลดลงทั่วโลก ซึ่งการเติบโตด้านรายรับปรับลดลงร้อยละ 13 (จากร้อยละ 56 เป็นร้อยละ 43) และการเติบโตด้านผลกำไรปรับลดลงร้อยละ 11 (จากร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 32) ทั้งนี้ ทั้งในประเทศจีน (ร้อยละ 37) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 35) มีความคาดหวังต่อการเติบโตของรายรับลดลง 33 จุดในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 69 เป็นร้อยละ 51 ทางด้านความคาดหวังต่อผลกำไรที่สูงขึ้นนั้น ประเทศไทย (ลดลงร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 27), จีน (ลดลงร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 13) และสหรัฐอเมริกา (ลดลงร้อยละ 23 เป็นร้อยละ 34) มีการปรับลดลงที่คล้ายคลึงกัน ถึงกระนั้นก็ตาม ธุรกิจในยุโรปมีทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการขยายตัวของธุรกิจในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาสามเดือนก่อนหน้า โดยมีความคาดหวังต่อความสามารถในการทำกำไรเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 40
เอียน ยังคงกล่าวต่อว่า “ความขาดเสถียรภาพนั้นส่งผลให้ธุรกิจดำเนินการอย่างยากลำบาก โดยเป็นการบังคับให้ชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อการขยายตัวของกิจการในอนาคต ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้หากพิจารณาถึงสภาพของตลาดโลกที่กำลังเผชิญกับสภาวะที่วุ่นวายในขณะนี้ และธุรกิจยังคงมีทัศนคติด้านบวกต่อภาพรวมการขยายกิจการ ทว่าลดลงจากเมื่อสามเดือนก่อนหน้านี้เท่านั้น"
"ส่วนการส่งออกจากประเทศจีนยังคงลดลงในขณะที่ตลาดโลกกำลังปรับน้ำหนักในการลงทุน ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยอุปสงค์ที่สูงขึ้นทั่วโลกอาจกระตุ้นให้เกิดการส่งออกที่มากขึ้นในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนตัวลงอาจลดทอนผลกระทบดังกล่าวลงไป ในขณะเดียวกัน หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 นี้ ทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จำนวนมาก”
“ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเป็นสัญญาณบ่งบอกประสิทธิภาพของเศรษฐกิจในอนาคต การที่ทั่วโลกมีทัศนคติด้านบวกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อปี 2557 ภายหลังช่วงเวลาที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากกว่า 2 ปีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดของทัศนคติด้านบวกในไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ผ่านมานั้น บ่งบอกว่าธุรกิจทั่วโลกเริ่มมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในปี 2558 แล้วก็ได้”