ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า สังคมมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น ครูจึงควรมีความพยายามทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่าย และเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ชีวิตขาดไม่ได้ ทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าวิทยาศาสตร์ฝังอยู่ในทุกๆส่วนของสิ่งรอบตัวเรา อยู่ในเทคโนโลยีที่เราใช้ ตัวอย่างเช่น น้ำที่เราดื่มอยู่ทุกวัน หากไม่มีเครื่องกรองน้ำ หากไม่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์น้ำเสีย หรือบอกให้ได้ว่าน้ำดี เราก็คงต้องวิ่งไปป่าไปหาน้ำดื่ม หาเราไม่มีเรื่ององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราให้เป็นยางล้อ ที่เราใช้วิ่งกันอยู่ทุกวัน เราก็คงมีล้อรถที่เป็นแบบของเกวียนไม้ คงจะสั่นสะเทือนน่าดูเวลานั่งรถ
“การเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนสามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ คิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งกระบวนการนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมาก จริงๆ แล้วเราสามารถหยิบของรอบๆ ตัวมาศึกษา มาดูว่าสิ่งของสิ่งนั้นมีชิ้นส่วนอะไรบ้าง แต่ละชิ้นสัมพันธ์กันอย่างไร และเพราะเหตุใดมันจึงเป็นแบบนี้ ลองจินตนาการดูเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องแรงในวิชาฟิสิกส์ เราสอนกันเรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า ก็ต้องทดลองกับของจริงดู พยายามให้เด็กได้ใช้เวลารู้จักกับส่วนประกอบต่างๆ รู้ว่าสวิทช์ไฟคืออะไร หน้าตาสวิทช์เป็นอย่างไร หลอดไฟเป็นอย่างไร ต่อกันแบบนี้แล้วจะได้อะไร ให้เด็กได้ทดลองจริงจะเสริมประสบการณ์ให้เค้าจดจำสิ่งที่ได้สัมผัส ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้” ดร.วรวรงค์ กล่าว
รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องของการให้สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะห้องเรียนขนาดใหญ่ สิ่งที่จำเป็นมากในการจัดการเรียนการสอนคือการสะท้อนความคิดกลับให้กับผู้เรียน ดังนั้นคุณครูต้องหาโอกาสให้กับตัวเอง เปิดโลกทัศน์เรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยวิธีการใหม่ ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เอง มีโครงการเกี่ยวกับครูที่น่าสนใจหลายโครงการ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ที่มีการอบรมครู ส่งเสริมเทคนิคและแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็ม (STEM) โครงการพัฒนาครูและสื่อการเรียนรู้แบบสะเต็ม เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยระดับประเทศกับครูแกนนำเพื่อขยายผลต่อไป โครงการอบรมครู Frontier Science เพื่อต่อยอดเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการให้ครูวิทยาศาสตร์ และโครงการอบรมครูด้านนาโนเทคโนโลยี
ด้านสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) มีโครงการ CERN School Thailand ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเซิร์นเพื่อให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงกับกลุ่มการทดลอง นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมเครือข่ายซินโครตรอนเพื่อครูวิทยาศาสตร์เปิดให้กับครูวิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) มีโครงการอบรมครูทางดาราศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีโครงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาและนำความรู้ด้านสะเต็มเพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถด้านการผลิตและบริการ และโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโอกาสที่เปิดกว้าง ให้คุณครูสามารถวิ่งเข้าหาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยกระบวนการใหม่ๆ ได้ และนำกลับมาพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างอนาคตใหม่ให้ประเทศไทย
“การสร้างให้คนมีศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถคิดวิเคราะห์หรือต่อยอดองค์ความรู้ได้ สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต และพร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนด้วย “ ดร.วรวรงค์ กล่าวทิ้งท้าย