นายเชาว์พันธุ์ พันธุ์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มสังคมสูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างเร็ว โดยเมื่อย้อนกลับไปในปี 2554 มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด (10 ก.ย.57 ประชากรประเทศไทย 64,916.920 คน) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 ของประชากรในปี 2567 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยอัตราที่ค่อนข้างเร็ว และการที่ประเทศมีผู้สูงวัยอยู่ในอัตราสูงถึงร้อยละ 20 จะมีผลกระทบในระดับ มหภาค คือ ผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตในประเทศ ที่สัดส่วนกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อภาวะค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการหาบริการและสวัสดิการสาธารณะต่างๆเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบระดับ จุลภาค เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต และ ผู้สูงอายุและครัวเรือนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สุขภาพ เช่น หลักประกันรายได้ยามชรา ที่ต้องมีรายได้ใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือ จากที่ไม่ได้ทำงานเมื่อเกษียณ” นายเชาว์พันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ นายเชาว์พันธุ์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งในปัจจุบันประชาชนเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เนื่องจากมีความกังวลในกรณีเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะเดียวกันในอดีตยังพบว่าผู้ที่เกษียณตัวเองจากการทำงาน มักจะประสบปัญหาในเรื่องของการเงิน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือมีเก็บออมไว้ใช้จ่ายน้อยเกินไป ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินออมที่สะสมมาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้จากการสำรวจกลุ่มผู้ชมงานที่เข้ามาเยี่ยมชมงาน Set In the city ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมายังพบว่ากลุ่มผู้ชมงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาในช่วงวัยระหว่าง 30-45 ปี จะให้ความสำคัญในการมองหาผลิตภัณฑ์ในการลดหย่อนภาษี ทั้งประกันชีวิต กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพราะนอกจากจะได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนและความคุ้มครองชีวิตอีกด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชมงานในช่วงระหว่างวัย 45 ปีขึ้นไป จะให้ความตระหนักในการสร้างเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณอายุ โดยเน้นเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครอง และสร้างรายได้หลังเกษียณในระยะยาว อาทิ ประกันแบบบำนาญที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 200,000 บาท ตลอดจนสามารถมีรายได้ประจำหลังจากเกษียณไปแล้วทุกปีอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มอายุ 30-45 ปีจะเน้นเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง และลดหย่อนภาษี ต้องการเพิ่มผลตอบแทนสูง จากเดิมที่ลงทุนเพียงแค่การฝากเงินธรรมดา ที่ได้ผลตอบแทนต่ำ มาถัวเฉลี่ยให้การลงทุนของตัวเองให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มอายุ 45 ขึ้นไปจะเริ่มตระหนักที่จะต้องมีเงินไว้ใช้ยามเกษียนอายุ โดยจะเน้นการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองระหว่างที่สร้างรายได้ และ หลังเกษียน มีเงินไว้ใช้ได้ เริ่มสนใจผลิตภัณฑ์ ระยะยาวขึ้น คือ 10 ปีขึ้นไป เพราะสามารถลดหย่อนภาษีได้ และผลิตภัณฑ์บำนาญ ที่ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 200,000 บาท และมีเงินได้ประจำหลังที่ตัวเองเกษียน” นายเชาว์พันธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามจากทิศทางของการเข้าสู่สังคมสูงวัย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระยะยาว 10 ปีขึ้นไป อาทิผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต แบบบำนาญ จะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีที่สุดเพื่อการออมไว้ใช้ยามเกษียณ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินในระยะยาวของแต่ละคนได้อีกด้วย นอกจากนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างอิสระภาพทางการเงินที่ดี ควรจะต้องมีการหมั่นทบทวนแผนการเงินอยู่เสมอเพื่อปรับเป้าหมายให้มีความเป็นไปได้ที่สุด เพื่อดำเนินการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายของแต่ละบุคคล ในการสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงให้กับทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์ของลูกค้าที่หามาได้ให้คงอยู่ในระยะยาว