นายวศิน อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ สลิงชอท กรุ๊ป ที่ปรึกษาและให้บริการด้านพัฒนาภาวะผู้นำและพัฒนาองค์กร เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมของตลาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความท้าทายมากขึ้นตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะการมาถึงของ เออีซี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร ให้ต้องเปิดกว้างและมีการปรับตัวเร็วขึ้น อีกทั้งแนวโน้มของการพัฒนาคนและองค์กร ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากกระแสโลก เครื่องมือและหลักสูตรต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยอมรับอาจไม่เพียงพอ จึงถือเป็นความท้าทายของสลิงชอท กรุ๊ป ในการสร้างโซลูชั่นที่ตรงกับความต้องการขององค์กรลูกค้าอันเป็นหัวใจของการทำงานของสลิงชอท กรุ๊ป
“ สลิงชอท กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและเป็นผู้ให้บริการด้านการพัฒนาผู้นำและพัฒนาองค์กร ได้เตรียมความพร้อมโดยทำการ รีแบรนด์ องค์กรใหม่ เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก ออคิด สลิงชอท เป็น สลิงชอท กรุ๊ป พร้อมขยายธุรกิจในเครือเพิ่มขึ้นอีก 2 บริษัท คือ สลิงชอท คอนซัลทิง และสลิงชอท โคชชิ่ง เพื่อโฟกัสการสร้างโซลูชั่น รวมถึงการเตรียมสินค้าและบริการใหม่เพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุน และรับมือกับแนวโน้มการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ” นายวศิน กล่าว
ในการรีแบรนด์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ชื่อ และสัญลักษณ์ของบริษัท สะท้อนเอกลักษณ์ รวมถึงปรัชญาในการทำงานของบริษัท ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดย สลิงชอท ( Slingshot ) หมายถึง หนังสติ๊ก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายแต่ใช้ได้ผลจริง มีประสิทธิภาพสูง และเมื่อกลับหัวก็จะมีลักษณะคล้ายตัวอักษร “เหริน” ในภาษาจีนอันมีความหมายว่า “คน” เปรียบได้กับแนวคิด และเครื่องมือในการพัฒนาคนของสลิงชอท กรุ๊ป ที่ไม่ซับซ้อน ใช้ได้จริง และมีประสิทธิผล
สลิงชอท กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทยแท้ ทำให้มีความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรของคนไทยเป็นอย่างดี ปัจจุบัน สลิงชอท กรุ๊ป ให้บริการ 3 ด้าน ได้แก่ การอบรม (Training) การโค้ชผู้บริหาร (Coaching) และการเป็นที่ปรึกษา (Consulting) โดยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ปรึกษาระดับโลกหลายแห่ง เช่น Zenger Folkman และ Center for Leadership Studies ประเทศสหรัฐอเมริกา มีที่ปรึกษาและโค้ชที่เป็นที่ยอมรับในตลาดสำหรับให้บริการแก่ลูกค้าทั้ง 3 ด้านดังที่กล่าวมา โดยมีความชำนาญเฉพาะด้าน (Know-How) อาทิ การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ( Building Coaching Culture ) การพัฒนาผู้นำที่เป็นเลิศ (The Extraordinary Leader) และทฤษฎีผู้นำกับสมอง ( Brain-Based Leadership ) เป็นต้น