วันที่ 17 มกราคม 2558 มูลนิธิสื่อสร้างสุขและเครือข่ายจัดงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคปี 3 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้คนเมือง โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการ ดนตรี และการเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืนจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่บ้านขามเปี้ย ตำบลคอนสาย อำเภอตระการพืชผล บ้านนาเยีย ตำบลนาเยีย อำเภอนาเยีย บ้านบุ่ง ตำบลโนนกาเล็น อำเภอสำโรง ซึ่งมีการเสวนาในหัวข้อ “คุณค่าข้าวพันธุ์พื้นบ้าน” จากวิทยากรส่วนกลาง ได้แก่ ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและตัวแทนชาวบ้านนายนิยม เจริญ โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขเป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้วิทยาศาสตร์ศึกษาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านมานานกว่า 7 ปี กล่าวว่า ข้าวพื้นบ้านมีตั้งแต่อดีต และปัจจุบันในธนาคารเชื้อพันธุ์มีเกือบหมื่นชนิด ได้หมุนเวียนปลูกหลายร้อยสายพันธุ์ ในด้านวิทยาศาสตร์ได้นำเอาแว่นขยายทางไปส่องดูพบว่ามีข้าวพื้นบ้านข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจ เรียกว่ามี 4 อ. ได้แก่ อ.1 เอกลักษณ์ ข้าวพื้นบ้านไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครมี มีลักษณะเฉพาะตามพื้นถิ่น เช่น ภาคใต้มีข้าวสังข์หยด เพชรบูรณ์มีข้าวลืมผัว บางพันธุ์ต้านทานโรค ทนแมลง ไม่ใส่ปุ๋ยก็เจริญเติบโตได้ ถือเป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง การดูลักษณะทางพันธุกรรมข้าว บางครั้งก็ใช้แค่กล้องมาส่องดูก็สามารถเห็นรายละเอียดได้ แต่ก็มีการวิเคราะห์ทางเคมีถึงองค์ประกอบภายใน เช่น ชนิดของแป้ง เพื่อหาความเหนียวหรือความหยุ่นของเม็ดแป้ง แป้งแต่ละชนิดที่เป็นองค์ประกอบข้างใน พอแปรรูปออกมาจะมีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวชนิดนี้กัดแล้วหยุ่น และอีกสายพันธุ์อาจจะแข็ง แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครมองละเอียด ทุกคนมองเป็นข้าวเหมือนๆกันหมด ทำให้ไม่มีข้อมูล
อ.2 คือโอชา ข้าวพื้นบ้านอร่อย แต่ละพันธุ์หอมไม่เท่ากัน หอมสามกอ ได้จากพ่อแดง หาทวี หอมกว่ามะลิ105 หลายเท่า เวลานำมาปั่นข้าวแล้วหอมฟุ้งไปทั้งห้อง คนทำงานด้านนี้จะขนลุก หลงใหลเลย “ปัจจุบันได้คำตอบแล้วความหอมของข้าวหอมสามกอเป็นสารชนิดเดียวกันใบเตย และป๊อบคอร์นเวลาได้รับความร้อน สามารถประยุกต์แปรรูปเป็นอาหารจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าได้”
อ.3 โอสถ หรือยา ข้าวบางชนิดมี RAG หรือดัชนีน้ำตาลที่ย่อยอย่างรวดเร็วเหมาะสำหรับนักกีฬา หรือมีSAG คือดัชนีน้ำตาลที่ย่อยได้ช้าเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ผ่านมามีสถาบันโภชนาการมหิดลได้ศึกษาคุณสมบัติตรงนี้ ข้าวพื้นบ้านทุกสายพันธุ์ที่เป็นข้าวสี มีธาตุหล็ก แร่ธาตุ วิตามินเอ บี เบต้าแคโรทีนมากกว่าข้าวขาว มีผลต่อความกระปรี้กระเปร่าของร่างกาย มีวิตามินอี ชะลอความแก่ และล่าสุด ข้าวจ้าวเหลืองมี โฟเลตสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ สองถึงสิบสองเท่า เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์ให้นมบุตร
ส่วน อ.4 คือโอกาส ที่สามารถพัฒนาข้าวพื้นบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่า มองข้าวมากกว่าข้าว เช่น ทำดินน้ำมันจากข้าวพื้นบ้านสำหรับการเล่นที่ปลอดภัยของเด็ก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“หากบริโภคอย่างชาญฉลาดจะได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อยาวิตามิน เครื่องดื่ม หรือยาบำรุงร่างกายยี่ห้อต่างๆเลย และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรให้ผลิตข้าวธรรมชาติข้าวพื้นบ้านอินทรีย์เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน” ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายนิยม เจริญ เกษตรกรตำบลนาเยีย อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ได้ปลูกข้าวพื้นบ้านจำนวนกว่า 40 สายพันธุ์ เช่น ข้าวก่ำดอ มะลิแดง มะลิดำ หอมสามกอ นางนวล ปัจจุบันเริ่มสูญหายไป เพราะเกษตรกรไม่มีการเก็บข้อมูล จากประสบการณ์ที่ผ่านมามีชาวบ้านป่วยเป็นโรคเบาหวานในบ้านนาเยียมาติดต่อซื้อข้าวหอมสามกอไปทาน แล้วพบว่าน้ำตาลลดลงในระดับที่ปลอดภัย หมอที่โรงพยาบาลไม่เชื่อ ให้พยาบาลตามมาดูที่บ้านเพราะเกรงว่าจะไปซื้อน้ำผลไม้มาทาน ข้าวหอมสามกอเป็นที่กล่าวขานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ชื่นชอบทานข้าวเหนียว จนปัจจุบันมีลูกค้าสั่งให้ปลูกให้อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี