ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญดินและปุ๋ย กล่าวว่า วันที่ศุกร์ที่ 23 ม.ค. 2558 ตั้งแต่ 08.00 น.เป็นต้นไป เครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักจะมีการจัดงานมหกรรมตรวจดิน ที่สนามกีฬา อ.หนองแค จังหวัด สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดว่า จะมีเกษตรกรนำดินมาตรวจ 500 ตัวอย่าง ถือว่าเป็นมหกรรมตรวจดินที่มีเกษตรกรเข้าร่วมมากที่สุด การจัดมหกรรมตรวจดินเป็นขั้นตอนสำคัญในการเผยแพร่เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกร ที่กำลังมีความพยายามผลักดันผ่าน www.progressTH.org
คลินิกดินที่เกิดขึ้นจะดำเนินการโดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร จากภาพจะเห็นได้ว่า เกษตรกรต้องรู้จักการตรวจดินโดยใช้เครื่องมือปุ๋ยสั่งตัดเพื่อวัดค่า N-P-K ในดิน โดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด (ภาพงานเปิด “คลินิกดิน” แห่งที่ 5 ในอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 )
ดร.ประทีป กล่าวว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เริ่มจากจากเกษตรกรศึกษาข้อมูลชุดดิน นำดินมาตรวจ เพื่อให้รู้ว่าดินในขณะนั้นมี N-P-K อยู่เท่าไร เพื่อให้การใช้ปุ๋ยตรงกับชนิดดินและความต้องการของพืช ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยแบบกว้างๆ อย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ในงานมหกรรมวันนั้น จะมีการเสวนาเรื่อง “วันนี้มีคำตอบ... ทำไมต้อง “ปุ๋ยสั่งตัด และปลูกข้าวด้วยต้นทุน 2,500 บาท/ไร่ ได้อย่างไร” อีกทั้งมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ คือ เครื่องปลูกข้าวน้ำตม ที่สร้างโดยเกษตรผู้นำเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักด้วย
"ดินเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตเกษตรกร แต่ดินกลับเป็นสิ่งที่เกษตรกรรู้จักน้อยที่สุด รวมถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยด้วย ชาวนาส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องดินและปุ๋ยเลย ไม่รู้ว่า N-P-K ที่พิมพ์ข้างกระสอบ คืออะไร นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้การปลูกพืชมีต้นทุนสูง”
ดร.ประทีป กล่าวว่า มหกรรมตรวจดินครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเกษตรไทย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ “การเกษตรแบบแม่นยำ” เป็นการเกษตรที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตพืช
“ในทุกวันนี้ เกษตรกรมีความเสี่ยงรอบด้าน เพราะทุกอย่างคือการลงทุน แต่ชาวนาไม่สามารถคาดการณ์ทั้งเรื่องผลผลิตและราคาได้ว่า จะได้เท่าไหร่ ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนสำหรับเกษตรกรคือ การลดต้นทุน เพราะจัดการได้ด้วยตนเองทันที โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ และลดการใช้แรงงาน” ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน กล่าว
ดร.ประทีป กล่าวว่า การลดต้นทุนการผลิตข้าว ควรเริ่มจาก 1. ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้เกือบ 50% อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงด้วย เพราะต้นข้าวจะแข็ง แมลงไม่ทำลาย 2. ลดเมล็ดพันธุ์ จากที่เคยใช้ไร่ละ 30 กิโลกรัม เหลือเพียง 12 กิโลกรัม โดยใช้เครื่องปลูกข้าวน้ำตม และ 3. ลดค่าแรงงาน เพราะเครื่องปลูกข้าวที่เกษตรกรประดิษฐ์ขึ้นมา ปลูกข้าวได้ถึงวันละ 50 ไร่ และใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งจากปกติหว่านได้วันละ 15 ไร่
“ทั้งหมดนี้คือการปูพื้นฐานให้แก่เกษตรกร ต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเฉพาะในภาวะที่เกษตรกรเผชิญความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เกษตรกรจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน สามารถคิดกระบวนการผลิตเองได้ และเลือกเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะที่เหลือก็คือกำไรนั่นเอง” ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน กล่าว
นางศิริพร สุปัญญาพาณิชย์ เลขานุการเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสัก กล่าวว่า อยากให้เกษตรเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ เพราะทุกวันนี้เกษตรกรทำนาแบบตัวใครตัวมัน และใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนสูง ซื้อปุ๋ยในราคาแพง และบางครั้งได้ปุ๋ยปลอมด้วย ถ้าเกษตรกรต้องการลดต้นทุน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และหันมาลดต้นทุนอย่างจริงจัง ด้วยการรวมกลุ่ม และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ด้วยกัน
“คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งการตรวจดิน และการผสมปุ๋ยใช้เอง ลดต้นทุนได้เยอะมาก ซึ่งจะช่วยรักษาอาชีพชาวนาให้ยังคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ตกเป็นเหยื่อของพ่อค้าอีกต่อไป”นางศิริพร กล่าว
อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งถึงเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในการรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 ว่า ในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้ง “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” รวมทั้งหมด 882 แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ ซึ่งกรมส่งเสริมฯ ได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาใช้ในพื้นที่ชลประทาน ภาคกลาง 20 จังหวัด พบว่าชาวนาสามารถลดปุ๋ยเคมีได้ 47% และผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 7% ต้นทุนในการปลูกข้าวลดลงเฉลี่ย 400-500 บาท เพื่อจะแก้ปัญหา “ปุ๋ยผิด ปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพง” อย่างเป็นรูปธรรม