นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากที่จะก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของโลกเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในอนาคต อันใกล้ โดยคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2573 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 30.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐอเมริกา 23.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจแต่ละมณฑลของจีน รวมทั้งกฎหมายที่แตกต่างในแต่ละมณฑล จึงจำเป็นต้องพิจารณาจีนในลักษณะ “หนึ่งมณฑล หนึ่งประเทศ” โดยการเจาะลึกการพัฒนาความร่วมมือเป็นรายมณฑล โดยเฉพาะมณฑลที่มีศักยภาพของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ – อันฮุย - หูเป่ย – ฉงชิ่ง – เสฉวน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศจีน
นายอุดมฯ กล่าวว่า จากการศึกษาแต่ละมณฑลพบว่า มหานครเซี่ยงไฮ้ รัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์ การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศใน 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการคมนาคมขนส่งทางเรือ และยังมีนวัตกรรมทางเศรษฐกิจล่าสุดคือการทดลองทำเขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ (SFTZ) โดยการปฏิรูปเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ การปฏิรูประบบการเงิน การบริการการค้าการลงทุนจากต่างประเทศและนโยบายภาษี สำหรับมณฑลอันฮุย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นมณฑลที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาจากสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ภายในมณฑลไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย มณฑลหูเป่ย เป็นจุดยุทธศาตร์ที่มีความสำคัญในการคมนาคมขนส่งและการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ภาคกลางของจีน โดยนโยบายของมณฑลหูเป่ย ได้มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ครบวงจร ครอบคลุมทั้งทางอากาศ ทางบก ทางรถไฟและทางน้ำ โดยมีแนวทางที่จะก่อสร้างท่าเรือขนาบแม่น้ำแยงซีเกียงแห่งใหม่สนามบินแห่งใหม่โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งภาคกลางของประเทศจีน มหานครฉงชิ่ง นอกจากจะเป็นเมืองที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สูงลำดับต้นๆ ของจีนแล้ว ยังมีแผนการพัฒนา เพื่อรองรับสินค้าจากมณฑลเสฉวน ในการกระจายสินค้าสู่ภาคตะวันตกของจีนและการเชื่อมโยงกับเส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำแยงซี ตามแผนการพัฒนาการสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและการพัฒนาเส้นทางสายไหมสมัยใหม่ระหว่างจีนกับเอเชีย ขณะที่มณฑลเสฉวน เน้นการสร้างความสมดุลของการพัฒนาโดยการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ควบคู่กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเป็นมณฑลใหญ่ที่มีพลเมืองจำนวนมาก มีผลผลิตการเกษตรที่หลากหลาย ทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และศูนย์วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก
ในระยะเริ่มต้น ไทยมีโอกาสเป็นฐานผลิตเพื่อส่งสินค้าไปขายยังประเทศจีนได้ในอุตสาหกรรมเวชสำอางและเครื่องสำอาง โดยร่วมมือกับมณฑลเสฉวน และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร ในรูปของอาหารพร้อมทาน (Ready to eat) หรืออาหารพร้อมปรุง(Ready to cook) เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบแบบคนเมืองและมีกำลังซื้อสูง สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่น่าชักชวนจีนเข้ามาลงทุนในไทยนั้น จากการสำรวจพบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา (ขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ) และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (โซลลาร์เซลล์และแผงโซลลาร์เซลล์) โดยจะเป็นประโยชน์มากหากสามารถส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวจากมณฑลและมหานครเหล่านี้
นายอุดมฯ กล่าวต่อไปว่า การสนับสนุนด้านข้อมูลด้านการลงทุน และการชี้โอกาสทางการตลาด การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาต การรับรองมาตรฐาน และการจับคู่ธุรกิจ เป็นบทบาทหนึ่งที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนภาคเอกชนไทยและจีนได้ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการลงทุนในโครงการร่วม (Joint Venture) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อาทิ นิคมอุตสาหกรรมยางพารา พร้อมกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือการงดเว้นภาษีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น โดยการดำเนินการดังกล่าวต่างเป็นปัจจัยที่จะช่วยจุดประกาย และสร้างการตื่นตัวต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม/เครือข่ายการผลิตระหว่างกันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม