ผศ.ดร.นิตยา โง้ววัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า เนื่องจากทางภาควิชาเคมี จัดการเรียนการสอนการชีวเคมีทั่วไป ให้กับนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร โดยเนื้อหาในการเรียนการสอนและการมอบหมายงานให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ เป็นเนื้อหาที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นจึงจัดโครงการบูรณาการเรียนการสอน “ชีวเคมีในชีวิตประจำวันจากพี่สู่น้อง” กับโรงเรียนมัธยมใกล้เคียง เป็นการบริการวิชาการ สำหรับปีการศึกษานี้ ได้จัดที่โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งนักศึกษาได้นำความรู้จากภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมทั้งจากข้อมูลที่ค้นคว้ามาประยุกต์ในชีวิตประจำวันและได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว เป็นการเสริมความรู้ด้านชีวเคมีเบื้องต้นแก่นักเรียนระดับมัธยมตอนปลาย เนื้อหาประกอบด้วย 4 เรื่อง เรื่องที่ 1 การหา Tryptophanจากเครื่องดื่มและอาหาร 2. การหา Cholesterol ในนมและไข่ 3. การหา Protein ในไข่ขาวและไข่แดงด้วยวิธีไบยูเรต 4. การหาน้ำตาลรีดิวซ์ในกล้วยอายุต่างๆ สำหรับนักศึกษามีทั้งหมด 30 คน และนักเรียน 47 คน
นางศุภลักษณ์ สวัสดิ์นะที ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า สำหรับนักเรียนที่เข้าเรียนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 สายวิทย์-คณิต ในวิชาเคมีพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต โดยการเรียนการสอนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำสารเคมีเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่นักเรียนจะได้รับในวันนี้ คือ 1. ในเรื่องของการใช้แล็ป ฝึกการแก้ปัญหาได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ นอกเหนือจากในบทเรียน 2. ในเรื่องของการแก้ปัญหาในส่วนของอุปกรณ์ เช่นถ้าไม่มีอุปกรณ์จะนำอุปกรณ์ชนิดอื่นมาแทนได้หรือไหม 3. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจากการสังเกตนักเรียนให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งในการเรียนการสอนเป็นการบูรณาการที่สามารถประยุกต์ต่อยอดได้ เนื่องจากนักเรียนมัธยมตอนปลายต้องทำโครงการวิทยาศาสตร์ และในระยะเวลาอันใกล้ทางโรงเรียนจะนำไปบูรณาการให้กับโรงเรียนประถมใกล้เคียงต่อไป
“อ้นซอส” นายเอกบุรุษ หมัดตอเฮด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรเล่าว่า เตรียมตัวในการสอนมาเต็มที่ โดยกลุ่มตนเองนำเรื่อง “การหาน้ำตาลรีดิวซ์ในกล้วยอายุต่างๆ” มาสอนน้องๆ โดยจากการทำลองได้รับความสนใจจากน้องๆ โดยแต่ละกลุ่มมีการเตรียมคำถามมาซักถาม รวมถึงขอคำแนะนำในการเรียนต่อ ดีใจที่ได้มาสอนน้องๆ เนื่องจากในการมอบหมายและการคิดหัวข้อในการทำรายงาน ทุกคนในกลุ่มช่วยกันหาข้อมูล และได้มีการรายงานหน้าชั้นเรียน ซึ่งอาจารย์ได้ให้คำแนะนำ และให้เตรียมตัวในการมาสอนในวันนี้ เห็นน้องๆ ทุกคนให้ความสนใจวิชานี้ ตนเองก็ดีใจ
“ฟิวเวอร์” นางสาวธัญญลักษณ์ แสงค้ำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการผลิตพืช เล่าว่า สำหรับกลุ่มตนเองนำเสนอเรื่อง การหา Tryptophan จากเครื่องดื่มและอาหาร สำหรับในวันนี้ น้องๆ ซักถามข้อสงสัย ซึ่งถ้าเรียนในห้องเรียน หรือรายงานหน้าชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยฯ เพื่อนๆ อาจจะไม่ซักถามเหมือนน้องๆ เนื่องจากเพื่อนอาจจะรู้แล้ว การซักถามของน้องๆ เป็นการทบทวนความรู้ในตัว ดีใจมากที่ได้นำความรู้มาถ่ายทอดให้กับน้อง ทำให้ตนเองมีความกล้าแสดงออก ประยุกต์ความรู้ที่ได้เรียนมาบูรณาการในชั้นเรียน
“อุ๊” นางสาวอุรุชา กิตติสาภรณ์ นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า เป็นสิ่งใหม่ๆ เรื่องใกล้ตัวที่ไม่รู้ เช่น สาร Phenyl ethylamine เป็นสารที่รับประทานเข้าไปแล้ว ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย โดยมีในโกโก้ ซึ่งทำให้เข้าใจมากขึ้น ว่าควรรับประทานอะไรจะมีประโยชน์ต่อร่างกายของตนเอง พี่ๆ เป็นกันเอง สอนวิธีทดลอง อธิบายสารเคมี ช่วยกันตอบคำถาม สนุกมาก ในการเรียนในวันนี้ ทั้ง 4 เรื่อง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ได้
เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนในครั้งนี้ “หนุน” นายธนพล ทักษิณฮานี เล่าว่า รุ่นพี่เป็นกันเอง สอนเป็นธรรมชาติ และสนุก เรื่องที่พี่นำมาสอนเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และตนเองจะนำไปเล่าให้แม่ฟัง ว่าการรับประทานไข่ ควรรับประทานไข่อย่างไง ให้ห่างกัน Cholesterol อยากให้พี่มาสอนวิชาอื่นด้วย เพราะว่า เป็นความรู้นอกห้องเรียนที่หาไม่ได้ในหนังสือ สารเคมีบางตัว ในห้องเรียนไม่มีสอน ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่มาสอนในวันนี้
ผลลัพธ์ที่ได้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย กระบวนการเรียนการสอนในการบูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งในการเรียนที่เรียนตามตำราอาจจะไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบัน ที่พัฒนาและรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย