อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพการจัดการทรัพยากรระดับมหภาคของประเทศไทยยังขาดเครื่องมือและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องมีการลงทุนกับสิ่งก่อสร้าง บุคลากร กฎระเบียบและกลไก ทำให้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการส่งเสริมการจัดการระดับพื้นที่เพื่อใช้เป็นฐานของการพัฒนาที่เป็นไปได้ในระยะสั้น รวมทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
รศ. ดร.สุจริต กล่าวอีกว่า จุฬาฯ ได้เข้าร่วมโครงการรักษ์ป่าน่าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ ป่าให้สามารถคงอยู่ หรือ เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้สร้างความมั่นคงต่อการดำรงชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน จึงเกิดโครงการน้ำแลกป่าโดยการนำทรัพยากรน้ำไปเพิ่มผลผลิตการเกษตร แลกกับการปรับเปลี่ยนที่ป่าให้กับพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ในการอนุรักษ์ได้ต่อไป ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว มีความต้องการข้อมูลสารสนเทศ ทั้งในแง่พื้นที่ป่า พื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำที่เป็นไปได้ เพื่อใช้ในการวางแผนในโปรแกรมน้ำแลกป่าได้ต่อไป
ทีมงานวิจัยจึงได้ศึกษาการจัดการทรัพยากรระดับพื้นที่เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับกลไกการจัดการ ที่สามารถนำไปสู่เสถียรภาพของการจัดการที่ยั่งยืน โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคล, ชุมชน กับ ทรัพยากร ได้แก่ ดิน, น้ำ และป่า ในมิติของ อาหารและพลังงานในการดำรงชีวิต, เกษตรในการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิต โดยเน้นให้ยังคงใช้ชีวิตในวิถีรูปแบบเดิม โดยจะสงวนรูปแบบการดำรงชีวิตโดยให้กระทบให้น้อยที่สุด แล้วมุ่งเพิ่มความรู้การจัดการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อให้พร้อมที่จะตอบรับปัจจัยการเติบโตจากภายนอก จึงได้มีการคัดเลือกลงพื้นที่นำร่อง และอบรมให้กับ15 อบต. ในจังหวัดน่าน ที่เข้าร่วมโครงการรักษ์ป่าน่าน โดยเข้าศึกษาพื้นที่ตัวอย่างที่มีการดำเนินการโปรแกรมน้ำแลกป่ารวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ และใช้ประโยชน์จากโปรแกรมระบบสารสนเทศฯ
โดยโครงการนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อจัดทำเป็นโครงการนำร่อง จัดทำแผนที่ชุมชนที่สามารถจะดำเนินการโปรแกรมน้ำแลกป่าเพื่อตอบสนองต่อโครงการรักษ์ป่าน่าน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด