ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และผู้ทรงคุณวุฒิภาคการศึกษา บรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลเมืองเด็ก : การลงทุนที่คุ้มค่า” ภายในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระดับชาติครั้งที่ 3 จัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม (Inequity) ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเด็กไทยอย่างน่าเป็นห่วง โดยพบว่าเด็กไทยราว 40% อยู่ในข่ายมีพัฒนาการล่าช้า (Delay Development) จำเป็นต้องส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้
เด็กที่เข้าข่ายมีพัฒนาการล่าช้ากลุ่มนี้ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมีย เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำมาก เด็กติดเชื้อ HIV และกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านสังคม ได้แก่ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น ซึ่งสองกลุ่มหลังมีแนวโน้มมีทักษะควบคุมบังคับใจตนเองต่ำ หากไม่ได้รับการศึกษาที่ดีและมีความเท่าเทียมกัน (Equity) ในช่วงวัยรุ่นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ เสี่ยงต่อการติดสิ่งเสพติด และการมีลูกก่อนวัยอันควร ส่งผลให้ลูกที่เกิดมาวนกลับเข้าสู่วงจรชั่วร้าย ภาคการศึกษาจึงต้องเข้าหนุนเสริมแต่เนิ่นๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านบวก และลดตัวบั่นทอนศักยภาพของเด็กให้เหลือน้อยที่สุด อาทิ การคัดแยกเด็กเก่งกับเด็กอ่อน ครูใส่ใจเด็กเก่งแล้วมองข้ามเด็กอ่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างความไม่เท่าเทียมกันในภาคการศึกษา
ต่อปัญหานี้ ศ.นพ.วิจารณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาภาคบังคับว่า หัวใจความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์คือการไม่คัดแยกเด็กเก่งและเด็กอ่อน โรงเรียนทุกแห่งครอบคลุมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีมาตรฐานการศึกษาเท่าเทียมกันโดยมีภาคพลเมืองร่วมตรวจสอบ ทุกวันหลังการสอน ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะประชุมร่วมกันเพื่อสังเกตติดตามพัฒนาการของลูกศิษย์เป็นรายชั้นและรายบุคคล เพื่อหาวิธีการสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ต่อเนื่องด้วยระบบช่วยเหลือเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อนให้เรียนไปด้วยกันทั้งชั้น พบว่าการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีของประเทศฟินแลนด์มีเด็กราว70% ผ่านระบบความช่วยเหลือ แต่ในที่สุดเด็กทุกคนสามารถกลับเข้าชั้นเรียนและบรรลุผลสำเร็จทางการศึกษาได้เหมือนๆ กัน
ในส่วนของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในภาคการศึกษา ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการยกเครื่องการศึกษาใหม่เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนและเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริงอย่างเท่าเทียมกัน โดยเปลี่ยนเป้าหมายจากการเรียนเพื่อสอบเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งสติปัญญาและลักษณะนิสัย และเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ใหม่จากเด็กรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากครู เป็นเด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ มีครูสนับสนุนให้เด็กฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ขึ้นภายในตนแล้วใคร่ครวญไตร่ตรอง และสอบทานกับตำรา
“มนุษย์ทุกคนต้องการเป็น Somebody ในแบบใดแบบหนึ่ง ถ้าความไม่เท่าเทียมกันทำให้เขาขาดโอกาส เขาต้องเกเร เพราะกระบวนการเกเรนั้นเขาเป็น Somebody ในหมู่เพื่อน หากเขาหาความสุขจากอย่างอื่นไม่ได้ เขาก็ไปติดยา เป็นความสุขเหมือนกัน เซ็กซ์ก็เป็นความสุขชั่วแล่นแล้วก่อความทุกข์ แล้วสิ่งที่เรียกว่าเป็นอบายมุขก็ตามมา การศึกษาจึงต้องเปลี่ยน การศึกษาต้องเตรียมเด็กไว้ ตอนที่มรสุมชีวิตเริ่มฝึกเขาให้เป็นผู้ใหญ่ เขาเริ่มที่จะเป็นตัวของตัวเอง ก็คือตอนวัยรุ่น การศึกษาต้องทำให้เขาสามารถคุมตัวเองได้ มีความเคารพตัวเอง หาตัวเองเจอ ได้เป็น Somebody ในช่วงนั้น ก็จะกลับทางวงจรชั่วร้ายนี้ได้” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวปิดท้าย