องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ค้าน ชุด กม.เศรษฐกิจดิจิทัล เสนอ ครม.ทบทวน ชี้ขาดการคุ้มครองผู้บริโภค ปชช.ควรมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

พุธ ๒๘ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๐:๐๙

จากกรณีที่ครม.ได้เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับโดยมีเนื้อหาบางส่วนที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน วันนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จัดการแถลงข่าววิเคราะห์ชุดกฎหมายดังกล่าว ขาดมิติในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับใช้ พร้อมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ และให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ สร้างหลักประกันให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการเยียวยาความเสียหาย

นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวว่า ร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา35 วรรค 3 ขาดมิติในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากเกินไปในการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภค ควรมีการกำหนดกระบวนการป้องกันและสอบทานอย่างในการเข้าถึงข้อมูล

“ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความผิด ก็ควรกำหนดกระบวนการอย่างน้อย 2 ชั้นในการเข้าถึงข้อมูล โดยผ่านศาลให้อนุญาตก่อน และที่น่าสนใจคือทำไมร่างกฎหมายฉบับนี้ถึงถูกนำมาใส่ไว้กฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลแทนที่จะใส่ไว้ในกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องความผิดคอมพิวเตอร์” นายจุมพลกล่าว

ทางด้าน นส.ชลลดา บุญเกษม คณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตัลนี้ มีเนื้อหาที่ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค มีเนื้อหาอธิบายความผิดไว้กว้าง ไม่ชัดเจนเพราะบอกว่า ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ

“แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิด แต่ถ้าเกิดเราเป็นเพื่อนของผู้ทำผิด แล้วตามกฎหมายระบุไว้ว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดได้ ก็แสดงว่าข้อมูลส่วนตัวของเราถูกละเมิดแล้ว โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ” นส.ชลลดากล่าว

นายรุจน์ โกมลบุตร คณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้คณะรัฐมนตรีทบทวนร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ และต้องอธิบายให้ชัดเจนในกรณีที่มีการลิดรอนของสิทธิผู้บริโภค นอกจากนี้ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบก็คือภาคประชาชน

“กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าข้อมูลสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างง่ายดายจากเจ้าหน้าที่รัฐฯ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการมาลงทุน เพราะมีความกังวลในความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ เลย” นายรุจน์กล่าว

ด้าน นส. บุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการองค์การอิสระฯ มองว่า การร่างกฎหมายดิจิตัลฉบับนี้ไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่เป็นการดึงอำนาจไว้ที่รัฐมากกว่า นอกจากนี้ถ้าเกิดกรณีมีนักธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของรัฐ ก็อาจเกิดการล้วงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามได้

“กฎหมายนี้เหมือนการถอยหลังเข้าคลอง รัฐฯ ควรหาทางให้ กสทช. มีอำนาจในกำกับควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ดึงอำนาจไว้ที่รัฐอย่างเดียว” นส.บุญยืนกล่าว

คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในฐานะผู้ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายทั้งสิบฉบับ ดังนี้

1. เนื่องจากกฎหมายดิจิทัลดังกล่าวมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้บริโภคทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งการนำข้อมูลของผู้บริโภคไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น ในกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

2. ขอให้มีการระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างชัดเจน

3. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม จากภาคประชาชนและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ขอเสนอให้มีการเพิ่มตัวแทนของผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการในร่างกฎหมายทุกฉบับด้วย

4. เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตามร่าง พรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่อาศัยอำนาจกฎหมายไปในทางมิชอบพร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค

5. ในร่าง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้มีการกำกับดูแลครอบคลุมถึงบรรดา ผู้ที่ส่งข้อความโฆษณารบกวน หรือ “สแปม” มาทาง SMS อีเมล์ หรือแม้กระทั่งสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งสร้างความรำคาญและเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

6. ในส่วนการแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ เห็นว่า กสทช.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับกิจการควรคงความเป็นอิสระ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกสทช.ไม่ควรเอากลับเข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบ การประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ทุกชุด รวมทั้งการแก้ไขการถอดถอนให้ทำได้ง่ายมากขึ้นหากพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version