สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย(International Schools Association of Thailand: ISAT) ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ด้วยปณิธานและพันธกิจเพื่อมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ตั้งเป้าผลิตพลเมืองคุณภาพให้สังคมโลก มุ่งสร้างทักษะและการเรียนรู้ให้เด็กสามารถก้าวสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดระบบการศึกษานานาชาติของไทยได้มาตรฐานติดอันดับโรงเรียนชั้นนำของเอเชีย เนื่องจากกลุ่มโรงเรียนนานาชาติในไทยมีจุดเด่นในแง่คุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงค่าเล่าเรียนที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลกได้ และยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน เชื่อมั่นไทยมีความพร้อมจะเป็น Hub of International Education ของภูมิภาคได้หลังเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (เออีซี)
อาจารย์ อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นตัวแทนของโรงเรียนนานาชาติสมาชิกของสมาคมฯ 113 โรงเรียน จาก 147 โรงเรียนทั่วประเทศ ในการประสานงานการจัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติของประเทศ ร่วมกับหน่วยงานขององค์กรต่างๆของภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการศึกษานานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพของระบบการศึกษานานาชาติในประเทศไทย โดยสมาชิกของสมาคมมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพและมุ่งเน้นที่เด็กเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนนานาชาติในประเทศได้มาตรฐานระดับนานาชาติซึ่งได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทั่วโลก สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ (Hub of International Education) ของอาเซียน
สำหรับการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนสมาชิกของสมาคมฯ โรงเรียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการประกันคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเข้ารับการประเมินและการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสถาบันรับรองมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติทั่วโลก อาทิ WASC, CIS, NEASC หรือ CfBT ซึ่งเป็นองค์กรที่กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้การยอมรับ โดยปัจจุบันมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยถือได้ว่าอยู่ในอันดับต้นของเอเชีย
“สมาคมโรงเรียนนานาชาติฯ ปัจจุบันก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว และเราได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 20 ปีนี้ โดยเราได้เชิญ ศาสตราจารย์ ดร.หยง เจา (Prof.Dr.Yong Zhao) ซึ่งเป็นนักการศึกษา นักวิชาการ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมาบรรยายให้ความรู้และทัศนะด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หัวข้อ Educational Trend in the 21th Century: East Meets West ในวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มี สัมมนาในช่วงเช้าของวันเดียวกัน สำหรับครูและนักการศึกษา ในหัวข้อ World Class Learners: Educating Creative and Entrepreneurial Students ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง” อ.อุษา กล่าว
ในส่วนของภาพรวมธุรกิจบริการโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยนั้น อ.อุษา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ จำนวน 147 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 91 แห่ง และต่างจังหวัด 56 แห่ง มีจำนวนครูผู้สอนรวมประมาณ 6,176 คน และมีจำนวนนักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนนานาชาติประมาณ 42,024 คน (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปี 2556) สำหรับค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปี ของโรงเรียนนานาชาติในไทยถือว่าถูกกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600,000 บาทต่อคนต่อปี (2-2.2 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่อยู่ที่ 2.5-2.6 หมื่นเหรียญสหรัฐ, ฟิลิปปินส์ 2.8-2.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ, สิงคโปร์ 2.6-2.7หมื่นเหรียญสหรัฐ และ ฮ่องกง 2.7-2.8 หมื่นเหรียญสหรัฐ โดยเฉลี่ยจะมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ปีละ 3-5 แห่ง และมีแนวโน้มเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นจากทั้งเด็กไทยและต่างชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่โรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ยังมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาชิมลาง อาจเพราะมองเห็นว่าภูมิประเทศที่ตั้งของไทยและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเหมาะจะเป็นฮับทางการศึกษาเอเชียในอนาคต
“การศึกษานานาชาติในประเทศไทย ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในแต่ละปี สามารถนำเงินเข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย ทั้งจากสถานทูต และบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งต่างมองหาโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากลให้กับบุตรหลานของตน เมื่อนักลงทุนต่างชาติเหล่านั้นเห็นถึงศักยภาพและมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติในไทย ก็สามารถดึงให้เด็กเหล่านั้นเข้ามาเรียนในระบบการศึกษานานาชาติในไทยได้ สำหรับเด็กไทยก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนต่างประเทศ เป็นการช่วยประหยัด ไม่ให้เงินบาทรั่วไหนออกนอกประเทศ นับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในประเทศได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม” นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติกล่าว
นอกจากนี้ อ.อุษายังกล่าวย้ำถึงจุดเด่นของโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทย เมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียงว่า นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีทักษะภาษาอังกฤษและความรู้ความสามารถด้านต่างๆอยู่ในอันดับต้นๆของเอเซีย และหลักสูตรนานาชาติในไทยยังเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน โดยดูได้จาก ผลการสอบของนักเรียนนานาชาติที่สามารถวัดผลได้และเห็นได้จริง อย่างผลการทดสอบ ISA (International School Assessment) ปี 2014 ซึ่งเป็นการทดสอบคณิตศาสตร์และการอ่านของนักเรียนระดับ เกรด 3, 5, 7 และ 10 จาก 200 โรงเรียน ใน 60 ประเทศ เด็กนักเรียนของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยสามารถทำคะแนนได้สูงกว่านักเรียนจากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์และอเมริกา และนักเรียนที่ผ่านการศึกษาระบบนานาชาติของไทย ยังสามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้มากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งฯลฯ
“ด้วยที่ตั้งและยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนและชาวต่างชาติเข้ามาจากทั่วโลก ตามมาด้วย โรงเรียนนานาชาติที่จะมารองรับลูกหลานของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย สามารถขยายฐานเจาะกลุ่มนักเรียนไทยและนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะมีแนวโน้มขยายไปจังหวัดที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี สามารถขยายฐานไปยังลูกค้าในลาวและกัมพูชาได้ ขณะที่บางจังหวัดที่มีโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มเติม เช่น ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ เพราะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นจังหวัดที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเปิดประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้ผู้ให้บริการศึกษาหลักสูตรนานาชาติของไทยขยายฐานไปสู่ประเทศอื่นในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม ได้อย่างไม่ยาก และยังมีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนนานาชาติของต่างชาติจะเข้ามาขยายสาขาในประเทศไทยเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นผลดีกับเด็ก เพราะมีตัวเลือกเยอะขึ้นกว่าเดิม” อ.อุษาแนะนำ
สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยในยุคนั้น มีสมาชิกเพียง 5 โรงเรียนเท่านั้น จนปัจจุบันเติบโตจนมีสมาชิกถึง 113 โรงเรียน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นศูนย์รวมการศึกษานานาชาติในประเทศไทย และเป็นผู้แทนโรงเรียนสมาชิก ในการดำเนินงานในสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานานาชาติทั้งมวล โดยให้บริการแก่สมาชิก และเพิ่มขีดขั้นศักยภาพ โรงเรียนสมาชิก ด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานด้านการศึกษา การเรียนรู้ของนักเรียน ตลอดจนคุณธรรม และจริยธรรมในการดำเนินงานจัดการศึกษานานาชาติในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อโรงเรียนนานาชาติในหมู่สมาชิก แต่ยังเอื้อประโยชน์สู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวมอีกด้วย