มหัศจรรย์ “ป่าเด็งโมเดล”นวัตนกรรมพลังงานทดแทน ในพื้นที่สายส่งเข้าไม่ถึง ตอนที่ 1

พฤหัส ๒๙ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๐:๒๖
ทีม Progress Thailand (www.progressTH.org) ได้ลงพื้นที่ ต .ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อเข้าร่วมศึกษา “ปฏิบัติการพลังงานชุมชนครบวงจร” เพื่อการพึ่งตนเองในพื้นที่ไฟฟ้าสายส่งเข้าไม่ถึง ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน เมื่อเร็วๆนี้

จุดหมายในการเดินทางครั้งนี้คือ “สถาบันการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทางเลือก” โดยทันทีที่สายส่งไฟฟ้าสิ้นสุดลง สัญญานโทรศัพท์ถูกตัดขาด เราได้พบกับนวัตนกรรมพลังงานเพื่อการพึ่งตนเอง ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และ แก๊สชีวภาพ ตามบ้านเรือนต่างๆตลอดสองข้างทาง โดยแต่ละบ้านจะมีแผงโซลาเซลล์ วางอยู่บนหลังคาบ้าน และตั้งไว้รอบๆบ้าน รวมถึงบอลลูนไบโอแก๊สขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างบ้าน

เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีพลังงานไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มใช้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญทั้งหมดนี้เกิดจากองค์ความรู้ที่ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริง จนสามารถฝ่าฟันความขาดแคลนพลังงานมาได้ ซึ่งเรียกกันว่า “ป่าเด็งโมเดล” ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือ เราค้นพบว่าแผงโซล่าเซลล์ที่ชาวบ้านนำมาใช้ เป็นแผงโซลาล์เซลล์ที่พังและถูกทิ้งไปแล้ว แต่ชาวบ้านได้มานำซ่อมอีกครั้ง!!! ???

เปลี่ยนความมืดมิดให้เป็นแสงสว่าง

"โกศล แสงทอง" ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ย้อนความให้ฟังว่า แผงโซล่าเซลล์ที่เรานำมาใช้ตอนนี้เป็นแผงโซล่าเซลล์เก่าที่พังไปแล้ว โดยช่วงปี 2545-2546 รัฐบาลในสมัยนั้นได้มีนโยบาย “ Solar home” โดยมีการแจกแผงโซล่าเซลล์ทุกบ้านที่สายไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยมีการประกัน 3 ปี หลังจากนั้นพอหมดประกันปรากฎว่าแผงโซล่าเซลล์ เริ่มพังและใช้การไม่ได้และไม่มีคนมาซ่อม

“เหตุที่ชาวบ้านซ่อมเองไม่เป็น เพราะรับมาฟรี ไม่มีการสอนให้ซ่อม ทำให้แผงโซล่าเซลล์ที่ควรมีอายุอย่างน้อย 20 ปีใช้งานไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะแผงโซล่าเซลล์แต่ละเซ็ทมีราคาสูงถึง 3-4หมื่นบาท ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายที่ที่เจอปัญหานี้ ทำให้เครือข่ายฯอยากขยายความรู้นี้ไปช่วยคนที่อื่นๆด้วย เพราะการไม่มีไฟฟ้าใช้ทำให้ชีวิตลำบากมาก ”

ในฐานะที่ตัวเองพอมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้างเลยชวนชาวบ้านมาซ่อมแผงโซล่าเซลล์ด้วยกัน เพราะการซ่อมตรงนี้ทำได้ไม่ยาก แค่เพียงนำตัว “ไดโอด” ซึ่งเป็นตัวควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปในทางเดียวมาใส่ ก็สามารถนำแผงโซล่าเซลล์ มาใช้ได้อีกครั้ง

“ตอนนั้นผู้นำครอบครัวหลายบ้านได้มาเรียนรู้เรื่องนี้ เพื่อนำไปสอนให้สมาชิกในบ้าน ได้รู้จักโซล่าเซลล์ว่าทำงานอย่างไรและแก้ไขอย่างไรถ้ามีปัญหา โดยทุกคนต้องทำได้แม้กระทั่งเด็กๆก็ต้องรู้จ้กอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้หากพ่อแม่ไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเรื่ององค์ความรู้จึงสำคัญมาก เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว ชาวบ้านที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง และลงมือปฏิบัติจริง”

อย่างไรก็ตามเหตุที่ป่าเด็งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าลึก ทำให้การหุงหาอาหารต้องมีการตัดไม้มาเผาถ่าน ใช้ชีวิตกันค่อนข้างลำบาก เลยคิดว่าจะแก้เรื่องนี้อย่างไร จึงเริ่มศึกษาการทำก๊าชชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) เพราะชาวบ้านเลี้ยงวันกันเยอะ โดยเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง หาหนังสือมาอ่าน ลอกแบบ ลองผิดลองถูก เริ่มทดลองจากถัง 200 ลิตร แต่ผลิตได้ก๊าซมาใช้แค่ 15 นาทีก็หมด ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องไปดูงานในพื้นที่ต่างๆและทดลองใช้ถังใหญ่ขึ้นปรับเทคนิคเอามาสวมกับบ่อปูน ทำให้ผลิตก๊าซไว้ใช้ได้นานขึ้น

“จำได้ว่าช่วงนั้นพวกเราก็ไม่มีเงินทองมากนัก บางครั้งต้องเอากล้วยเอามะนาวไปแลกความรู้ ขณะที่การติดตั้งซึ่งมีราคาราวๆ 3,900 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับชาวบ้าน จึงได้ใช้วิธีลงขันจับฉลาก คนละ 300 บาทต่อเดือน 1 เดือน ซื้ออุปกรณ์ 1 ครั้ง วนไปจนกว่าจะครบจำนวนคน” โกศล เล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯไม่ละความพยายามและเชื่อว่าต้องทำได้ โดยพยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพราะคงไม่ทันแน่หากรอรัฐในการแก้ปัญหา อีกทั้งเชื่อว่าการแก้ไขปัญหากันเองเป็นทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า แต่การทำงานยังต้องการกำลังทรัพย์มาสนับสนุน จึงเสนอโครงการเพื่อขอทุนจาก UNDP โดยขอไปแค่ 100,000 บาทเท่านั้น ขณะที่โครงการของคนอื่นๆจะขอกันเป็นล้านบาท ปรากฎว่าทางทีม UNDPได้ลงพื้นที่มาดู และพอใจโครงการที่เราทำมาก และประหลาดใจมาก เพราะกลายเป็นว่า โครงการป่าเด็งโมเดลของเรา เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

“การทำงานของเครือข่ายฯไม่ถือเงินเป็นใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ “เงิน”มักจะทำให้เกิดปัญหา และไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน เพราะหากเอาเงินเป็นที่ตั้งเดี๋ยวก็จบ แต่อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนของเครือข่ายฯยังมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อให้งานเดินต่อไปได้ ตอนนี้กำลังออกแบบกันว่าองค์ความรู้ที่เรามี การเผยแพร่เทคโนโลยีเรื่องพลังงานทดแทนที่เราทำได้ จะสามารถทำรายได้อย่างไรได้บ้าง ทุกคนอยากทำงานให้ส่วนรวมแต่เราก็ต้องอยู่ได้ ” เขากล่าวพร้อมด้วยสายตาที่ครุ่นคิด

ถ่ายทอดเทคโนโลยี ชาวบ้านต้องทำได้

จากนั้นการอบรมเริ่มขึ้น โดยมี พิรัฐ อินพานิช นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นคนควบคุมดูแลและออกแบบการอบรมทั้งหมด เป้าหมายคือให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริง โดยวันแรกครึ่งเช้า จะเป็นการคำนวนการติดตั้งโซล่าเซลล์ในบ้านเรือน ทั้งแบบหลังใหญ่แบบเครื่องใช้ไฟฟ้าครบครัน หรือจะเป็นแบบกระท่อมปลายนาต้นทุนต่ำ ก็มีให้เลือก ว่าจะเริ่มจากตรงไหน มีอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรบ้าง ต้องลงทุนเท่าไหร่ ซื้ออุปกรณ์ที่ไหน

จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการสอนให้รู้จักอุปกรณ์ต่างๆในการติดตั้งโซล่าเซลล์ และมีภาคปฎิบัติ ให้ทุกคนฝึกต่อแผงโซล่าเซลล์จริงๆ นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่เรียนรู้เรียนรู้การผลิตแก๊สชีวภาพด้วยมูลสัตว์ เศษอาหาร และหญ้าเนเปียร์ เพื่อหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้าโดยบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีการอธิบายละเอียดทุกขั้นตอนต้องแต่การขุดหลุม การวางบอลลูน การทำท่อใส่เศษอาหาร การทำท่อระบายปุ๋ยชีวภาพ การต่อแก๊สเข้าครัวเรือน และที่พลาดไม่ได้คือการโชว์ว่า มีการแก๊สใช้จริงๆ โดยเจ้าของบ้านได้เปิดครัวโชว์ให้ผู้มาเยือนดูทันที

เรียนรู้การทำแก๊สชีวภาพ

จากนั้นในช่วงค่ำจะมีการแบ่งกลุ่มทำอาหารโดยใช้อุปกรณ์จากเตาไฟฟ้าชีวมวลชนิดต่างๆ เป็นที่สนุกสนาน โดยหลังจากรับประทานอาหาร ชาวบ้านก็จะนำเศษอาหารไปเติมบ่อก๊าซชีวภาพทันที โดยในค่ำคืนนั้น ศูนย์การเรียนรู้ฯ ป่าเด็งโมเดล ติดไฟรอบค่าย อย่างสว่างไสว จนผู้มาเยือนลืมไปเลยว่าที่นี่ ไม่มีไฟฟ้าและสายส่งเข้าไม่ถึง เพราะขนาดไฟฟ้าทดแทนที่ผลิตได้ มีมากมายเกินพอจนร้องคาราโอเกะกันถึงตี 3 อีกทั้งยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นเพื่อสู้กับอากาศหนาวกว่า20 องศา อีกด้วย จนแทบจะลืมไปเลยว่าที่นี่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

ในวันรุ่งขึ้น ช่วงเช้าเราได้เดินทางไปที่ หมู่ 10 ต. ป่าเด็ง ซึ่งอยู่ไกลจากศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อติดตั้งปั๊มพลังงานแสงอาทิตย์เข้าถังเก็บขนาด 500 ลิตร เพื่อการเกษตร ซึ่งปั๊มดังกล่าวสามารถช่วยให้ชาวบ้านลดรายจ่ายเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นต้องใช้น้ำมันสูบน้ำรดต้นไม้ เดือนละไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000บาท โดยก่อนกลับศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการเปิดปั๊มน้ำเพื่อให้มั่นใจระบบที่ทำไว้ใช้งานได้จริงๆ เมื่อเห็นน้ำไหลออกมา สร้างความปลื้มใจให้กับผู้เข้าร่วมและเจ้าของบ้านที่ได้เห็นผลงานชิ้นนี้

ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย เราได้เดินไปที่บ้าน “วิสูตร จันทร์ประไพ” สมาชิกเครือข่ายรวมใจฯ เพื่อติดตั้ง ระบบตั้งเวลาอัตโนมัติ(Timer) เพื่อตั้งเวลาปิดเปิดน้ำให้เป็นเวลา เพื่อที่เขาวิสูตร จะไม่ต้องมาปิดเปิดน้ำเอง ซึ่งเสียเวลาเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถปลีกตัวไปทำงานอื่นได้ โดยการติดตั้งครั้ง ผู้เข้าร่วมได้ฝึกปฏิบัติจริง โดยทดสอบตั้งเวลาเปิดที่ 15.00 น. ณ นาทีนั้น ทุกคนต่างลุ้นกันว่าเครื่องสูบน้ำจะทำงานหรือไม่ เรียกว่ามีการนับถอยหลังกันเลยทีเดียว จนกระทั่งเครื่องสูบน้ำได้ติดเองในเวลา 15.00 น. ทำให้ทุกคนเฮกันสนั่นที่ทำสำเร็จ

อย่างไรก็ตามการฝึกยังไม่จบเท่านี้ “สมชาย” ในฐานะวิทยากรหลัก ได้รีเซ็ทการตั้งเวลาทั้งหมด และปล่อยให้ “วิสูตร” ได้ตั้งเวลาจากเครื่อง Timer ด้วยตัวเอง ซึ่งนี่คือ จุดประทับใจที่สุดของผู้ที่ร่วม ที่ความรู้ต่างๆ ได้ถึงมือชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะหากมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น ชาวบ้านต้องสามารถแก้เองได้

ทั้งนี้ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นั่น จะมีชาวบ้านให้คำแนะนำและสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว และเห็นภาพชัดเจนทันที เพราะเมื่อเรารับประทานอาหารเสร็จ ทีมเครือข่ายรวมใจพ่อฯจะนำเศษอาหารที่กินเหลือไปเติมลงในบ่อไบโอแก๊สทันที

นอกจากนี้เรายังได้พบกับคุณยายอายุประมาณ 70 ปี ที่เข้ามาคุยกับพวกเรา โดยได้บอกถึงข้อจำกัดของโซล่าเซลล์ว่า พอถึงหน้าฝนก็ลำบากกันบ้าง เพราะไม่มีแดด แต่โชคดีที่ได้ไบโอแก๊สมาช่วย เพราะสามารถนำมาปั่นไฟได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ดีกว่าแต่ก่อนที่ต้องใช้ตะเกียงมาก

หลังการอบรมเสร็จสิ้น เราได้จับเข่าคุยกับ "พิรัฐ" อีกครั้ง เขาบอกว่า ตนเองได้เรียนรู้จาก ป่าเด็งโมเดล เยอะมาก เพราะก่อนหน้านี้ภาครัฐทุ่มเทงบประมาณเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อแจกเทคโนโลยีต่างๆให้กับประชาชน แต่ก็ไม่มีโครงการไหนที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เพราะชาวบ้านไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นชาวบ้านไม่ได้พึ่งงบประมาณของรัฐเลย แต่ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่เทคโนโลยีต่างๆด้วยตนเอง นี่คือ ต้นแบบที่เป็นรูปธรรมที่สุด ที่ชาวบ้านนำเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าและยั่งยืนด้วย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราว ของ “ป่าเด็งโมเดล” ที่เราหวังว่าโมเดลดังกล่าวจะกระจายไปทั่วประเทศ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้า จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยตัวเอง เพื่อเปลี่ยนความมืดมิดให้เป็นแสงสว่าง “ป่าเด็งโมเดล” จึงไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาให้พื้นที่ของตัวเอง แต่จะเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาของพื้นที่อื่นๆด้วย

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ