นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2558 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) โดยเห็นชอบแนวทางการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) และในปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว
ทั้งนี้ TPCH จะได้รับปัจจัยบวกจากกรณีดังกล่าว เนื่องจากบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พัทลุง กรีน เพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 9.2 เมกกะวัตต์ ,บริษัท สตูล กรีน เพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 9.2 เมกกะวัตต์ และ บริษัท แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 8 เมกกะวัตต์ โดยจะทำให้บริษัทขายไฟฟ้าในระบบใหม่คือ Feed-in Tariff ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 4.54 บาทต่อหน่วย จากระบบเดิม Adder อยู่ที่ 3.47 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.07 บาท/หน่วย
สำหรับระบบ Feed in Tariff (FiT) จะมีราคารับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนตามระยะเวลาสนับสนุนโครงการ 20ปี แตกต่างจากระบบก่อนหน้า Adder ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้าจะเคลื่อนไหวไปตามค่าไฟฐาน (Base Tariff ) บวกค่า Ft โดยรูปแบบใหม่จะมี FiT premium เป็นระยะเวลา 8 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมในระบบ Adder ที่จะมีเงินอุดหนุนเป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประเภทชีวมวล ว่าหากนำมาใช้จริงจะส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมาก โดยก่อให้เกิดปัจจัยบวกให้เห็นเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตามราคาค่าไฟในระบบFiTอาจมีการปรับขึ้นลงตามอัตราเงินเฟ้อ
“3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอพิเศษ ที่ได้รับส่วนเพิ่มเติมพิเศษในรูป Feed in Tariff Premium อีก 0.50 บาท ตลอดอายุโครงการ ซึ่งแต่ก่อนเคยได้รับส่วนเพิ่มเติมจาก Adder ปกติเมื่อก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ อีก 1.00 บาท เป็นเวลาเพียง 7 ปี นอกจากนี้ยังเชื่อว่า Feed in Tariff จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้นได้อีกด้วย”นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด