โครงการการพัฒนาระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ กฟน. และ CAT ที่ต้องการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละองค์กรมาพัฒนาร่วมกัน เพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และสามารถนำการพัฒนาที่เกิดขึ้นไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร และส่งผลต่อประโยชน์ของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยในความร่วมมือดังกล่าว กฟน. และ CAT จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงบริการต่างๆ ของ CAT ที่จะสามารถสนับสนุนบริการของ กฟน.ทั้งในส่วนของส่งจ่ายไฟฟ้า การจัดเก็บ ตลอดจนจุดรับซื้อไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ รวมถึงช่วยลดมูลค่าความเสียหายของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม จากกรณีไฟฟ้าดับหรือแรงดันไฟฟ้าตกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ Smart Grid คือ ระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร โดยการออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัล Smart Grid ให้ทำหน้าที่ส่งไฟฟ้าจากผู้ให้บริการไปยังผู้ใช้บริการด้วยระบบการสื่อสารสองทาง เพื่อช่วยให้ กฟน. สามารถวางแผนบริหารจัดการ การให้บริการพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน และสามารถตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้แบบReal Time ซึ่งจะช่วยให้ กฟน. สามารถทราบข้อมูลปริมาณการใช้พลังไฟฟ้าตามจริงของแต่ละครัวเรือน และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณการจ่ายกระแสไฟให้มีความเสถียร ลดปัญหาไฟดับในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง และสามารถแก้ไขปัญหาไฟดับได้รวดเร็วขึ้นจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่ถูกส่งมาแบบ Real Time เป็นการเพิ่มศักยภาพการให้บริการ
นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล กล่าวว่า “การไฟฟ้านครหลวงเชื่อมั่นว่า การให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid จะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าให้มีคุณภาพ เชื่อถือได้และปลอดภัย รวมถึงจะสามารถพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและให้บริการของ กฟน.ในเชิงรุกได้ในอนาคต”
พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กล่าวว่า “CAT ได้เตรียมนำบริการที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการ Smart Grid Solutions ของ กฟน. ในอนาคต ได้แก่ การให้บริการ ERP บน Cloud ที่จะช่วยให้ระบบงานบัญชีสามารถทำงานผ่านอุปกรณ์ขนาดเล็กได้อย่างคล่องตัว และสามารถฝากการประมวลผลขนาดใหญ่ไว้บน Cloud server ได้อย่างสะดวกเพราะผ่านเครือข่ายสาธารณะอย่าง 3G ได้ทันที , บริการ Data Center ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีศูนย์หลักในการให้บริการอยู่ที่บางรัก และนนทบุรี, บริการ My 3G ที่สามารถเชื่อมต่อการสื่อสารไร้สาย โดยจะทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าผ่าน Smart Meter
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาการใช้ทรัพยากรด้านโครงข่ายร่วมกันเพื่อการให้บริการที่ทั่วถึง ช่วยลดต้นทุนด้านการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งจะนำสู่การพัฒนาประเทศในภาพรวมต่อไป”