ต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรม “SE Tour” ในงาน “คนไทยขอมือหน่อย ปี2” เมื่อวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมสังคม GLab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันเช้นจ์ฟิวชันฯ, กลุ่มทีวายพีเอ็น (Thai Young Philanthropist Network) , เจ.พี. มอร์แกน และมูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกันจัดงาน “ตลาดนัด SE: ธุรกิจน้ำดีของนักลงทุนรักษ์โลก” เปิดพื้นที่การเชื่อมต่อให้นักธุรกิจและนักลงทุนได้เรียนรู้งาน “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise” ซึ่งหมายถึง กิจการที่ดำเนินการธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมธุรกิจไทย เพื่อร่วมพัฒนาโอกาสทางธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกัน
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจมานานด้วยหวังว่าประเทศจะพัฒนาขึ้น แต่ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกลับมีปัญหาสังคมตามมามากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมสร้างสังคมยั่งยืน ทั้งนี้ปัญหาสังคมจะแก้ได้ต้องมีคนที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่กิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise กำลังดำเนินการอยู่ก็เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักการทางธุรกิจมาใช้ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น กิจการเพื่อสังคมจึงต้องประกอบไปด้วย 3 P คือ People หรือคน Planet หรือสิ่งแวดล้อม และ Profit คือ กำไร หรือการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นทั้งกำไรที่กลับคืนสู่สังคมและกำไรที่ช่วยให้กิจการเติบโตได้
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในหลายมิติด้วยกัน เช่น จับคู่กองทุนร่วมทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ให้ได้พบกับกิจการเพื่อสังคม เพื่อมาร่วมลงทุนในกิจการที่นอกจากจะได้ผลตอบแทนทางการเงินแล้ว ยังได้ผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้กองทุนรวมออกกองทุนที่มาลงทุนในกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น รวมถึงกิจการเพื่อสังคมด้วย อย่างเช่น กองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน เปิดตัวไปเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว มีผู้สนใจร่วมลงทุนจนขนาดของกองทุนมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ ยังได้สื่อสารอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่แบ่งงบประมาณมาลงทุนหรือสนับสนุนนกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงพยายามสร้างเกณฑ์มาตรฐานการลงทุนอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วย
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า การจัดงานตลาดนัด SE ในวันนี้ทำให้มีความมั่นใจและรู้สึกว่ากิจการเพื่อสังคมมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น เพราะมีทั้งองค์กรสำคัญและเป็นผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ประกอบการสังคม และผู้ลงทุน มาช่วยกันผลักดันให้กิจการเพื่อสังคมเป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ของประเทศ
“กิจการเพื่อสังคมได้นำเรื่องของสังคมมาเป็นธุระ เป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกลไกที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยทรัพยากรทั้งทุน คน องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ระบบบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล งานในวันนี้เป็นช่องทางให้เกิดความร่วมมือ ผู้ที่เห็นโอกาสแก้ปัญหาสังคมยังต้องการการสนับสนุน ทุกวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน เพียงแค่การสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำบ้าง การสร้างความยั่งยืนที่มองแค่การสร้างความมั่งคั่ง จึงไม่พอแล้ว แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมด้วย”
รศ.ดร. นิตยา วัจนะภูมิ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า การจัดงาน “ตลาดนัด SE: ธุรกิจน้ำดีของนักลงทุนรักษ์โลก” ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่สำคัญก็คือองค์กรที่มีนโยบายอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันขับเคลื่อนงานกิจการเพื่อสังคมรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้พยายามขยายผลความคิดให้ภาคธุรกิจและภาคตลาดทุนมาสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ จึงมีความหวังว่า กิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยจะเติบโตได้และมีส่วนในการแก้ปัญหาสังคม
“งานวันนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านหลักคิด และแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสังคมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตร ซื้อสินค้าและการบริการล่วงหน้า พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดการ รวมถึงลงทุนเพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม น่ายินดีค่ะที่มีนักธุรกิจและนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปพัฒนางานอีกด้วย”
ทั้งนี้ กิจการเพื่อสังคมจำนวน 28 องค์กรที่มาร่วมจัดงานในวันนี้ เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการสังคม GLab Scaling Impact ที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 1 ปี โดย ได้รับการสนับสนุนจาก เจ.พี. มอร์แกน และมูลนิธิ เจ.พี. มอร์แกนเชส เพื่อดำเนินการอบรมสร้างเสริมความรู้และทักษะในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและสร้างผลลัพธ์ให้กับสังคมไทยในวงกว้างได้
“ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีศักยภาพสูง มีความเป็นผู้ประกอบการในตัวสูงและกล้าที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ รวมทั้งมีความตั้งใจดีที่จะลงมือทำเพื่อสร้างประโยชน์ที่ดีให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร วิทยาลัยฯ จึงสนใจที่จะส่งเสริมคนเหล่านี้ ทาง GLab ได้คัดเลือกผู้ที่ริเริ่มพัฒนาแบบทดลองความคิดทางธุรกิจ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ (Prototype) แล้ว จากนั้นได้ส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจนจัดตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคม”
สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่มาร่วมจัดงาน เป็นกิจการที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาสังคมที่หลากหลาย เช่น การศึกษา การเกษตรและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพัฒนาชุมชน เป็นต้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้พบปะกับนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้สนใจในธุรกิจ
?