ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลัง เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (พ.ศ. 2557-2560)

ศุกร์ ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ ๑๑:๔๒
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ หน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมอาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2557-2560 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน

กลยุทธ์ที่ 1.1 การอำนวยความสะดวกด้านการค้า

1. การพัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศสมาชิกอนุญาตให้รถยนต์ขนส่งที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิกอื่นสามารถขนสินค้าผ่านประเทศตนได้ ผ่านจุดผ่านแดนและเส้นทางที่กำหนด โดยได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีและค่าบริการอื่น ซึ่งภายใต้กรอบความตกลงนี้ มีพิธีสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง 3 ฉบับ คือ (1) พิธีสารฉบับที่ 2 ว่าด้วยการกำหนดที่ทำการพรมแดน เป็นการตกลงกำหนดที่ทำการ ณ จุดชายแดนโดยให้มีบริเวณควบคุมและมาตรการตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถขนส่งสินค้าผ่านแดน ในการนี้ ประเทศไทยได้กำหนดจุดที่ทำการพรมแดนแล้ว 7 จุด ประกอบด้วย แม่สาย แม่สอด อรัญประเทศ หนองคาย สะเดา มุกดาหาร และเชียงของ สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการกำหนดจุดผ่านแดน คาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในปี 2558 (2) พิธีสารฉบับที่ 5 ว่าด้วยระบบการประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีคลังอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2544 โดยเป็นการจัดทำระบบประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งครอบคลุมถึงความคุ้มครองทางกฎหมาย และกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เพื่อลดปัญหารถยนต์ข้ามแดนระหว่างกัน โดยในส่วนของไทยได้มอบหมายให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทำหน้าที่เป็นสำนักงานประกันภัยรถผ่านแดนแห่งชาติ (National Bureau) ภายใต้พิธีสารดังกล่าว (3) พิธีสารฉบับที่ 7 ว่าด้วยระบบศุลกากรผ่านแดน เป็นการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการส่งข้อมูลและสื่อสารกับผู้ค้า รวมทั้งการใช้แบบฟอร์มและหลักประกันเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียนสำหรับสินค้าส่งผ่านประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการส่งออก ในส่วนของไทยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกประเทศ รวมทั้งวิธีการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อลงนามในร่างพิธีสารฉบับนี้

2. การจัดตั้งการให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านศุลกากรของประเทศในการอำนวยความสะดวก ทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ของไทยแล้วจำนวน 26 หน่วยงาน จากทั้งหมด 36 หน่วยงาน ส่วนการดำเนินการ ASW นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการนำร่องเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศที่มีความพร้อมก่อนแล้วเมื่อปี ๒๕๕๕ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน โดยได้เริ่มทดสอบการรับส่งข้อมูลใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ATIGA Form D) และใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document: ACDD) แล้ว

3. ร่างพิธีสารว่าด้วยกรอบกฎหมายเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Protocol on the Legal Framework to Implement the ASEAN Single Window) เป็นการกำหนดกรอบกฎหมายสำหรับการดำเนินการ การติดต่อสื่อสาร และการประมวลผลทางอิเล็กทรอนิกส์ของธุรกรรมระหว่างระบบ NSW ของประเทศสมาชิกกับระบบ ASW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้สามารถลงนามในพิธีสารได้ภายในเดือนมีนาคม 2558

กลยุทธ์ที่ 1.2 การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

1. มาตรการภาษีด้านตลาดทุนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุน กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน (ASEAN Linkage) โดยยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ให้กับนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และให้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ สามารถเลือกหักภาษีร้อยละ 10 ณ ที่จ่ายได้โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

2. ปรับเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ระหว่างกันในอาเซียน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้กองทุนรวมต่างประเทศสามารถเสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ และให้บริษัทที่ต้องการเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป สามารถใช้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ เอกสารการเปิดเผยข้อมูล และหนังสือชี้ชวนชุดเดียวกันได้

กลยุทธ์ที่ 1.3 การอำนวยความสะดวกด้านการเงิน

1. การพัฒนาระบบชำระเงิน ได้มีการเชื่อมโยงระบบ ATM ของไทยกับของประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการเบิกถอนเงินสดระหว่างประเทศแล้ว การดำเนินการต่อไปจะพิจารณาแนวทางการโอนเงินกลับของแรงงานต่างด้าวผ่านช่องทางที่ได้รับอนุญาตระหว่างไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมาร์ รวมทั้งหาแนวทางการใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเริ่มจากศึกษาการชำระสินค้า กรณีสกุลเงินบาท – มาเลเซียริงกิต และบาท-อินโดนีเซียรูเปียห์

2. ส่งเสริมการลงทุนไทยในอาเซียน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับเงินทุนขาออกเพิ่มขึ้นตามแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ โดยลดข้อจำกัดเงินทุนขาออก ได้แก่ อนุญาตให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้โดยตรง ให้กู้เงินได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่ยังคงมีมาตรการรองรับยามฉุกเฉิน และเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันโดยอนุญาตให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทสามารถออกตราสารหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศทั้งในและนอกประเทศได้

3. พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน รอบที่ 6 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน เพื่อลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งในการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในรอบนี้ ประเทศไทยจะผูกพันเพิ่มเติมในด้านธนาคารพาณิชย์และบริษัทนายหน้าและตัวแทนประกันภัยตามกฎหมายปัจจุบันขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบและเพื่อให้สามารถลงนามพิธีสารฯ ฉบับที่ 6 ได้โดยเร็ว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

กลยุทธ์ที่ 2.1 ปรับปรุงโครงสร้างและประสานข้อมูลทางภาษี

1. การปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้ โดยปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการทั่วไปจาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น และปรับลดอัตราสูงสุดจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20

2. การจัดทำอนุสัญญา/ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศกัมพูชา ปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำอนุสัญญาเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 8 ประเทศ ยกเว้นกัมพูชาที่ยังไม่มีการจัดทำอนุสัญญาฯ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 กรมสรรพากรของไทยและกัมพูชา ได้มีการหารือทวิภาคี โดยฝ่ายกัมพูชามีความพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการเจรจากับฝ่ายไทยได้ โดยในขั้นต้นผู้แทนกรมสรรพากรของไทยจะเริ่มให้ความรู้ทางวิชาการราวเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และจะเริ่มกระบวนการเจรจาตามลำดับต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ