เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้กระแสไฟฟ้ากว่า 2,400 เมกะวัตต์ และในปี 2558 นี้คาดจะมีการใช้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ มีการประมาณการว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มากกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง
สืบเนื่องจากปัญหานี้ นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เคยหารือในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติรวมทั้งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าด้วยความห่วงใยเรื่องความมั่นคงของของระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะในภาคใต้ที่ผ่านมามีปัญหาและเกิดวิกฤตหลายครั้ง และยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต หากไม่ได้รับการป้องกันให้ได้ผล ตัวอย่างอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แม้จะมีปัญหาด้านระบบสายส่งที่มีความสามารถที่ไม่ดีพอในการรองรับการส่งไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ในขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไข เพียงแต่ต้องเร่งให้เร็วขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาใหญ่จะอยู่ในภาคใต้มากกว่า ที่ยังไม่มีการกระจายโรงไฟฟ้ามาในภาคใต้มากนักเนื่องจากมีกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด จึงต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนดังนี้
1. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้นจากที่ทำในปัจจุบัน ให้ประชาชนเข้าใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าขณะนี้ไม่พอรองรับความต้องการในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบันในการใช้ถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงนั้นสามารถควบคุมค่า Emission Factor ได้ดีกว่ามาตรฐาน และการขนส่งเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้าก็สามารถดูแลได้อย่างดีแล้ว และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าปัจจุบันไม่ว่าจะเกิดปัญหาขัดข้องของระบบสายส่งไฟฟ้าที่ไปภาคใต้หรือมีปัญหาที่อื่นนั้น จะทำให้ไม่สามารถส่งไฟฟ้าไปภาคใต้ได้ก็จะเกิดปัญหาทุกครั้ง ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว หากมีปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้าก็จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่มีปัญหาด้วย เพราะโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อจะไปตั้งที่ใดก็มักจะเข้าไปในที่ที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้า ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนตั้งโครงการอุตสาหกรรม
2. จะต้องเร่งดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ผ่านการทำ EIA และ EHIA เพื่อให้พร้อมในการจ่ายไฟอย่างเร่งด่วน เช่นในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.สงขลา
3. เจรจาขออนุญาตกองทัพเรือเพื่อใช้เกาะที่มีอยู่ในอ่าวไทย เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แล้วให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำลังปรับปรุงอยู่ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าโดยตรงได้รับผลตอบแทนตามความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบ แทนที่จะใช้พัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวอย่างในปัจจุบัน