ซึ่งกรณีนี้ นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ตนจะขอเสนอเป็นตัวแทน กสท. ดำเนินคดี เพราะเป็นเรื่องร้องเรียนที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯที่ตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งเพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานต่อคดีที่จะกระทบกับผู้บริโภคต่อไป ขณะนี้สำนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกิจการทีวีแบบบอกรับสมาชิก หรือเพย์ทีวีแล้วกว่า 30กรณี อย่างไรก็ตามตนอยากเสนอให้บริษัทมีมาตรการหรือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่านี้ พร้อมทั้งดำเนินการประกาศ กสทช. มาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
ในการประชุม กสท. เตรียมพิจารณาความเห็นของ บ.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และกลุ่มผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียม ที่ขอคัดค้านและขอให้ทบทวนร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. ... หรือร่างเรียงเลขลำดับเลขช่องใหม่ นางสาวสุภิญญากล่าวว่า ความเห็นของ กสท. ต่างมี 3 แนวทาง ได้แก่ ประกาศฉบับนี้ควรมีผลบังคับใช้กับทุกราย และกรรมการบางคนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อยกเว้นให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิม ตามมาตรา 75 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการฯ 51 แต่ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า หากบังคับใช้ประกาศฉบับใหม่นี้หรือไม่ ก็ควรมีผลกับทุกรายการเหมือนกันหมด
“ตนไม่เห็นด้วยกับ หากจะยกเว้นให้กับผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเดิม เนื่องจากประกาศฉบับก่อนหน้าที่ออกมากำหนด 10 ช่องแรกใช้กับทุกรายเหมือนกัน ประกาศก็ควรจะมีผลต่อทุกราย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อมาตรฐานช่องทีวีและผู้บริโภคมากกว่า” นางสาวสุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ มีวาระอื่นๆเพื่อพิจารณา ได้แก่ ความคืบหน้าและมาตรการดำเนินการของ กสท. ต่อการติดตั้งโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลในปีที่ 2 ของ บ. อสมท จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่ไม่สามารถดำเนินการวางโครงข่ายตามเงื่อนไขใบอนุญาตได้ครบตามจำนวน วาระรายงานการวิเคราะห์ระดับการแข่งขันและผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ วาระร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ฉบับ3) วาระร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา(มีเดียมอนิเตอร์) รวมทั้งวาระเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกสัญญาการให้บริการของ บ. ซีทีเอชฯ