“กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” เร่งรัดเจาะบ่อน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาภัยแล้งทุกพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ

อังคาร ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ ๑๔:๑๕
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จำนวน 31 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด สระแก้ว เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ หนองคาย ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 8 จังหวัด 30 อำเภอ 200 ตำบล 2,091 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และสกลนคร และภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ และลพบุรี

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าว ตามนโยบายของรัฐบาลและคำขวัญของพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ว่า "ทำก่อน ภัยแล้งจะมาถึง ทำจริง ทุกพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก ทำทันที ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ระดมกำลังทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมรถบรรทุกเครื่องมืออุปกรณ์ 86 ชุด ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 85 ชุด รถปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 คัน รถบรรทุกน้ำ 93 คัน จุดจ่ายน้ำถาวร 87 แห่ง และมีระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ ที่พร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย 2,631 แห่ง โดยที่ผ่านมา (ปลายปี 2557-ปัจจุบัน) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้นำน้ำบาดาลสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไปแล้วกว่า 1,205,025 ลิตร

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เข้าร่วมโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2558 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการนับตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2558 ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ให้การสนับสนุนจุดจ่ายน้ำ 87 จุดทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ 20 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37 จุด ภาคกลาง 16 จุด ภาคตะวันออก 8 จุด และภาคใต้ 6 จุด เพื่อให้กองทัพบกสามารถนำกำลังพลพร้อมรถบรรทุกน้ำเข้าไปรับน้ำบาดาลสะอาดจากจุดจ่ายน้ำ และนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งต่อไป

สำหรับในปีงบประมาณ 2558 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนงานโครงการสำคัญที่มีส่วน ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว จำนวน 3 โครงการ โดยแบ่งการดำเนินงาน เป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง 31 จังหวัด จำนวน 1,321 หมู่บ้าน ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้ว จำนวน 1,074 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 82 และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ ส่วนระยะที่สอง จะเร่งดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีก 1,347 หมู่บ้าน เพื่อให้ครบตามเป้าหมายทั้งสิ้น 2,668 หมู่บ้าน

โครงการสำคัญทั้ง 3 โครงการดังกล่าว หากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์กับประชาชน ดังนี้

- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 305 แห่ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเชื่อมต่อกับระบบประปาเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่มีน้ำเพียงพอ จะช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง โดยสามารถนำ น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 29,280 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจะมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 244,000 คน รวม 61,000 ครัวเรือน

- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 323 แห่ง ช่วยให้นักเรียนและบุคคลากรในโรงเรียน รวมถึงบุคลากรในพื้นที่มีน้ำดื่มสะอาดมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และเป็นจุดให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงที่เกิดพิบัติภัยธรรมชาติได้อีกด้วย โดยสามารถนำ น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 69,768 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะมีนักเรียน บุคลากรของโรงเรียน และชุมชนรอบข้างได้รับประโยชน์กว่า 258,400 คน รวม 64,600 ครัวเรือน

- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 693 แห่ง เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักในการเลี้ยงชีพและประกอบอาชีพ ช่วยให้คนในพื้นที่มีงานทำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ โดยสามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 55,440 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 66,250 ไร่ และเกษตรกรได้น้ำทำการเกษตร 3,800 ครัวเรือน

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า หากประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องการขอรับความช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภค สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สายด่วน 1310 หรือศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทรศัพท์ 0 2793 1000 ในวันและเวลาราชการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version