เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ ห้องบุณฑริกา 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี นายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี เข้าหารือร่วมกับแกนนำสื่อท้องถิ่นทุกประเภทจำนวน 12 คน เช่น สมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี สมาคมผู้สื่อข่าวอุบลราชธานี สมาคมวิทยุอุบลราชธานี ชมรมผู้สื่อข่าวส่วนกลาง ชมรมสื่อมวลชนสีขาว มูลนิธิสื่อสร้างสุข ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกัน หลังจากเวทีสื่ออุบลฯรวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ณ ห้องบุษยรัตน์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี มีข้อเสนอจากสื่อมวลชนท้องถิ่นว่าควรรวมตัวกันเพื่อดูแลกันเองด้านจริยธรรม และยกระดับมาตรฐานสื่อท้องถิ่นให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา จึงได้เชิญแกนนำสื่อประเภทต่าง ๆ มาหารือว่าเห็นด้วยหรือไม่ และควรดำเนินการอย่างไร
นายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี (สปช.อุบลฯ) ได้เริ่มต้นด้วยการอ่านจดหมายจากนายบุญเลิศ คชายุทธเดช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เขียนฝากมาโดยตรงถึงสื่อมวลชนอุบลราชธานี มีใจความสำคัญคือแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจสื่อมวลชนอุบลฯที่ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 และมีข้อสรุปสำคัญว่าจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกระจายข่าวสารการปฏิรูปและมีความสมัครใจที่จะกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมในรูปแบบองค์กรวิชาชีพ
สปช.อุบลฯกล่าวต่อว่า ในการปฏิรูปสื่อเราจะต้องเห็นสื่อทำงานโดยอิสระด้วยความรับผิดชอบ , ได้รับการคุ้มครอง ปลอดจาก อำนาจทุนอำนาจรัฐเข้ามาครอบงำ , ได้รับการดูแลส่งเสริมพัฒนา ให้มีเกียรติ มีความมั่นคง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ สื่อต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็งและกำกับดูแลกันเองให้ได้ ที่ผ่านมาสื่อจะรวมตัวกันเป็นก้อน ๆ เช่น นสพ. วิทยุ โทรทัศน์ มีความคิดที่จะรวมตัวแต่ก็ไม่สำเร็จมาตลอด จนเมื่อวันที่ 30 มกราคมสปช. กอ.รมน. สถาบันการศึกษาได้จัดประชุมสื่อ ได้มีความคิดขึ้นมาว่าการรวมตัวกัน โดยที่แต่ละคนก็ยังดำเนินกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ตามองค์กรที่ตนเองสังกัดไป ไม่ว่าจะเป็นสมาคม ชมรม คณะบุคคล แต่มารวมกันในนามสภาวิชาชีพฯ แบบเดียวกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีหอการค้าทั่วประเทศเป็นสมาชิกเป็นต้น เพื่อกำกับดูแลกันเองจะดีหรือไม่ ขณะที่ส่วนกลางก็คิดเช่นกันที่จะเป็น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ก็ทำคู่ขนานกันไประหว่างพื้นที่กับส่วนกลาง
“ความจริงแล้วสื่อท้องถิ่นเป็นฐานที่แท้จริงของข่าวปัจจุบัน ข่าวออกไปทั่วประเทศมาจากนักข่าวท้องถิ่นจำนวนมาก สื่อเก่ง ๆ ก็มักเติบโตจากสื่อท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะพัฒนาสื่อท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อความเข้มแข็งของประเทศต่อไป” นายนิมิต กล่าว
นายปัญญา แพงเหล่า เลขาธิการสมาคมผู้สื่อข่าวอุบลราชธานี กล่าวว่าวิชาชีพสื่อ ควรถูกยกฐานะขึ้นเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ ทุกวันนี้สื่อไม่ได้รับการรับรอง ไม่มีสวัสดิการความช่วยเหลือต่าง ๆ รับเองก็ไม่ให้เครดิตกับสื่อมวลชน จึงเห็นด้วยกับการที่จะรวมตัวกันเป้นสภาวิชาชีพฯในครั้งนี้
นายชลธิษ จันทร์สิงห์ นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานีแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยกับการรวมตัวและต้องมากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน วางกรอบกติกาข้อบังคับให้เป็นรูปธรรม โครงสร้างสภาฯควรจะเป็นอย่างไร การกำกับดูแลกันเองจะดูแลยังไง เพราะสื่อมีความคิดเป็นของตัวเองสูงมาก ควรยกร่างแล้วให้ตัวแทนสื่อทุกองค์กรมาทำความเข้าใจ มีส่วนร่วมกัน
สปช.อุบลฯกล่าวเสริมว่า เรื่องข้อกฎหมาย กฎกติการะเบียบต่าง ๆ เราจะนำความคิดหลักการของเราให้กฤษฎีกามาเขียนให้เราดู ว่าตรงตามที่เราอยากให้มีอยากให้เป็นไหม จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนัก
นายนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุขกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.เองก็มีแนวคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่าสื่อควรดูแลกันเอง กสทช.ไปกำกับคงไม่ไหว เพราะบุคลากรน้อย แต่ที่จ.อุบลฯการรวมตัวสื่อก็เป็นไปได้ยาก ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่หากรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพ เช่นเดียวกับ สภาทนายความ สภาหอการค้า แต่ละคนมีองค์กรอยู่แล้วทำกิจกรรมขององค์กรตนไป แต่มารวมกันเป้นสภาฯน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ คนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพก็ต้องมีสังกัด เป็นคณะบุคคล นิติบุคคล ก่อน และท้องถิ่นเราควรออกแบบกันเองเป็นตุ๊กตาขึ้นมาโครงสร้างน่าจะเหมือนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาชิกสภาวิชาชขีพต้องมีความหลากหลายจากอำเภอต่าง ๆ รวมตัวกัน มีตัวแทนมาประชุมร่วมกับเรา เรื่องงบประมาณถ้ารอส่วนกลางคงยากและได้จำนวนไม่มาก เราน่าจะมีวิธีที่จะหาพึ่งตัวเอง เช่น จากค่าสมาชิก จากการขอทุนจาก สสส. กสทช. สปช. หรือการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ
นางสาวปิยวรรณ เกษเสนา ชมรมสื่อมวลชนสีขาว เผยเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ละองค์กรยังอยู่ทำกิจกรรมของตัวเองได้ แต่มารวมกันเพื่อเป้าหมายการกำกับดูแล พัฒนาศักยภาพ และให้สมาชิกมีสวัสดิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลายปีที่แล้วก็เห็นกสทช. เชิญองค์กรใหญ่ ๆ มาทำ MOU ส่วนใหญ่เป็นสื่อส่วนกลาง อยากให้ในจังหวัดมีแบบนี้ด้วย ขอเสนอให้มีการเลือกตั้งประธาน จะได้รับการยอมรับ บอร์ดบริหารมาจากการสรรหา และต้องเชิญสื่อต่างอำเภอเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
นายภาณุ มัชฌิมา หัวหน้าฝ่ายข่าว NBT อุบลฯชี้ที่ผ่านมาเราปกครองกันเองแบบคนของใครคนของมัน สมาคมไม่ค่อยลงโทษกันเมื่อทำผิด จึงเห็นด้วยในหลักการที่จะมีสภาวิชาชีพสื่อฯ แต่ขอเสนอความเห็นว่าควรจะนิยาม คำว่า “สื่อ” ให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่จะเป็นสื่อ ช่างภาพโทรทัศน์ ช่างเทคนิควิทยุ ผู้ประกาศ นิยามให้ชัดเจนว่าใครที่ถือว่าเป็นสื่อ วิธีการเข้าเป็นสื่อต้องผ่านอะไรบ้าง มีผลอย่างไร มีวิธีการดูแลอย่างไร การร้องเรียนส่งคณะกรรมการตรวจสอบ มีคณะกรรมการประจำจังหวัด สื่อมวลชนในจังหวัดเลือกกันเข้ามา แล้วประชุม 77 จังหวัด การบริหารงานจะมีมาตรฐานมากขึ้น ฝากไว้เป็นข้อคิดว่าด้วยสภาฯจะไปแย่งงานของ กสทช. ฯลฯ หรือเปล่า
นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลฯเสริมว่า ตัวกฎระเบียบ ยกตัวอย่างทางสมาคมสื่อมวลชน ทำสมาชิกทำผิดกฎ บทลงโทษขั้นร้ายแรงก็แค่ขับจากสมาชิกเท่านั้นเอง เขาก้ไปสมัครเป็นสมาชิกองค์กรใหม่ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้อ่อนแอ ไม่มีอำนาจเต็มที่ในการลงโทษคนผิดกฎ
นายสมศักดิ์ รัฐเสรี บรรณาธิการ นสพ.ปทุมาลัย อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลฯเผยที่ผ่านมาเขามองว่านักข่าวเป็นพวกกาฝากสังคม นักรีดไถ พฤติกรรมที่ติดลบนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เละไปหมด ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีนักข่าวที่รีดไถอยู่ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า รวยกว่าคนมีจรรยาบรรณอีก หากไม่มีการรวมตัวกันกำกับดูแล อนาคตจะเละกว่านี้
สมัยก่อนตนก็อยากจะเป็นสมาชิกองค์กรสมาคมต่าง ๆ แต่ต้องเสียค่าบำรุงปีละ 5,000 บาท จะเป็นไปได้อย่างไร พิมพ์ยังไม่มีเงินค่าพิมพ์เลย จะเข้าเป็นสมาชิกก็ค่าสมาชิกแพง สื่อท้องถิ่นจะมีเงินที่ไหนไปสมัครสมาชิกที่ต้องการมากหากมีสภาวิชาชีพเกิดขึ้นคือ นักข่าวท้องถิ่นที่ต่อสู้กับการเปิดโปงทุจริตคอรัปชั่น ข่าวสืบสวนสอบสวน โอกาสที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีสูง โอกาสเข้าคุกเยอะ นักกฎหมายที่จะช่วยก็มีแต่ส่วนกลาง เมื่อไม่มีหลักประกันตรงนี้บางทีก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารความจริง 100% ไม่งั้นก็อยู่ยาก ศักดิ์ศรีนักข่าวท้องถิ่นจึงลดน้อยลงทุกวัน หากสามารถยกมาตรฐานวิชาชีพขึ้นมาได้นับเป็นคุณูปการต่อชาติอย่างยิ่ง
นางสาวนิชรา บุญตะนัย ผู้จัดการศูนย์ร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานีกล่าวว่าตนเองเป็นเอกชน มีหัวเข้าไปเป็นกรรมการองค์กรที่ส่วนกลาง ส่วนตัวที่อยู่ภูมิภาคเหมือนไม่มีบทบาทไม่รู้ส่วนกลางเขาทำอะไรกัน อยู่อุบลมาปีที่ 6 แล้ว รับปัญหาจากชาวบ้าน โอกาสที่เข้าคุกโดนคดีความก็ลำบากเหมือนกัน สมัยก่อนทำรายการเพลง รายการบันเทิงได้ดอกไม้ กุหลาบ ขนม แต่มาทำรายการร่วมด้วยช่วยกัน ไม่มีแบบนั้น ได้แต่ความภาคภูมิใจเห็นด้วยกับการมีสภาวิชาชีพฯแต่ขอให้ดูแลเรื่องสวัสดิการปากท้องของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อด้วย
ดต.เสมอ เดชะ สมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นอุบลราชธานีกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่พวกเราร่วมมือร่วมใจกัน อย่าให้ล้มนะงานนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ สมชื่อนิมิต
นายธนยศ โคจรโรจน์ ผู้สื่อข่าวช่อง 5 อุบลฯตัวแทนชมรมผู้สื่อข่าวส่วนกลางอุบลฯเผยเป็นความคิดที่เคยคิดอยู่แล้ว ทำเป็นตุ๊กตาขึ้นมาเลย ถ้าเกิดขึ้นได้ควรมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล มาช่วยสนับสนุนสื่อท้องถิ่น แม้มีอุดมการณ์แต่ท้องก็ต้องอิ่มด้วย
“การประชุมวันนี้สรุปได้ว่าสมาชิกทุกท่านเห็นพ้องที่จะรวมตัวกันเป็นประมาณสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอุบลราชธานี ซึ่งแต่ละท่านคงต้องไปถามผู้ร่วมองค์กรและรวมตัวกันยืนยันบทบาทหน้าที่ ร่างข้อกำหนดต่าง ๆ ร่วมกันอีกครั้ง สปช.อุบลฯยินดีสนับสนุนและอาจพาท่านเข้าสภาฯเพื่อเสนอเรื่องนี้ด้วยตัวท่านเองไม่ใช่ไปแค่ตัวหนังสือ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจ.อุบลราชธานี กล่าวในที่สุด