“จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิทัลของเมืองไทย ซึ่งจะได้เห็นเต็มรูปแบบในปี 2558 ทำให้วงการทีวีเมืองไทยต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะจำนวนช่องและคอนเทนท์ที่มีมากขึ้นในขณะที่กลุ่มผู้ชมจำนวนเท่าเดิม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา คอนเทนท์โพรวายเดอร์ สถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการ ต้องหากลยุทธ์เพื่อสร้างเรตติ้ง ดึงดูดผู้ชม และสปอนเซอร์โฆษณาซึ่งมีมูลค่าในตลาดรวมกว่า 4,500 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งกลุ่มผู้ชมทีวีดิจิทัลปัจจุบัน 70% ยังรับชมบนแพลตฟอร์มเคเบิ้ล และทีวีดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตรายการทีวีดาวเทียมจะเน้นการโฟกัสการผลิตคอนเทนท์ที่มีเนื้อหาสาระตามความสนใจสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
สำหรับ CAT Channel ซึ่งออกอากาศบนแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมมากว่า 3 ปี เป็นการขยายธุรกิจจากการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมของ CAT ทำให้เราสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการมาพัฒนาธุรกิจทีวีดาวเทียมในช่อง CAT Channel ได้ จากจุดเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจเดิมเราได้ใช้สื่อ CAT Channel เป็นช่องทางการรับรู้ข่าวสารบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของ CAT ในปัจจุบันเราได้เดินหน้าพัฒนาคอนเทนท์ซึ่งเป็นความรู้และความบันเทิง เน้นกลุ่มผู้ชมที่ต้องการพัฒนาทักษะความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านไอที ซึ่งเราได้เพิ่มการผลิตรายการของตนเอง และการพัฒนาคอนเทนท์ร่วมกับพันธมิตรทั้งในวงการไอทีและอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระตามแนวคิดของช่องคือ ทีวีสาระบันเทิงและก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้เรามีรายการใหม่ๆ อย่าง Catch5IT และ Complete TV ที่ได้พันธมิตรในธุรกิจนิตยสารและเว็บไซต์ไอทีมาผลิตรายการคุณภาพเพื่อเจาะลึกแวดวงไอทีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ และรายการของเราเองอย่าง CAT IT Academy ซึ่งจะให้ความรู้เชิงลึกสำหรับปฏิบัติการด้านไอทีและเน็ตเวิร์ค รายการ English4IT ที่จะส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษในแวดวงไอที เพื่อเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันในยุค AEC รายการ CAT Showcase ที่จะอัพเดต เทรนด์ เทคโนโลยีการให้บริการด้านไอทียุคใหม่ ซึ่งเราได้ผลิตผลงานจากห้อง CAT Virtual Studio ที่นอกจากจะใช้ในการผลิตรายการของตนเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตคอนเทนท์รายใหม่ๆ ได้เช่าห้องสตูดิโอเพื่อใช้ในการถ่ายทำในราคาย่อมเยา ซึ่งเป็นการลดภาระการจัดสร้างห้องสตูดิโอของตนเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในธุรกิจได้” นายวิโรจน์กล่าว