NBTC Policy Watch ชี้ร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ขาดวิสัยทัศน์เชิงปฏิบัติ ไร้กระบวนการมีส่วนร่วมร่วม และเป็นการดึงอำนาจจัดสรรคลื่นและใช้งบประมาณกลับไปสู่หน่วยงานโดยขาดการทำงานร่วมกับ กสทช.

จันทร์ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ ๑๓:๐๖
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดเสวนาในหัวข้อ “บทบาท กสทช. ภายใต้เศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล: ร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ตอบโจทย์หรือไม่?” ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการฯ ชี้ว่าร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. หลัก 4 ประการ คือ 1) ดึงอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่กลับไปยังหน่วยงานรัฐ โดย กสทช. ต้องนำเสนอแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้คณะกรรมการดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับรอง 2) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐได้ใช้คลื่นความถี่มากขึ้น 3) เปลี่ยนวิธีการให้ใบอนุญาตในกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประเภทธุรกิจจากการประมูลเป็นการคัดเลือก และ 4) ยุบกองทุน กสทช. และโยกงบประมาณไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตดังนี้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นการโยกอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งควรเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐที่เคยได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารดังกล่าว กลับไปสู่มือของหน่วยงานรัฐ รวมถึงหากพิจารณาถึงโครงสร้างคณะกรรมการดิจิทัลฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ถือเป็นผู้ประกอบการอย่างบริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม การกำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่อาจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเป็นหลัก

การประมูลเป็นวิธีจัดสรรใบอนุญาตที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะในกิจการโทรคมนาคม หากมีการจัดสรรใบอนุญาตโดยวิธีอื่นที่เปิดให้ กสทช. ใช้ดุลยพินิจมากเกินไป สาธารณะอาจเสียประโยชน์จากรายได้ที่เข้ารัฐ และส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น ไม่เป็นธรรมต่อทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่ประมูลไปก่อนหน้า

การยุบกองทุน กสทช. และโยกงบประมาณไปให้กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ อาจก่อปัญหาทั้งในเรื่องความโปร่งใสและเป้าหมายในการใช้งบประมาณ เนื่องจากร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนดิจิทัลฯ ไม่ระบุกลไกถ่วงดุลตรวจสอบการใช้เงินและขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน รวมถึงเป้าหมายบางอย่างของกองทุน กสทช. ตามกฎหมายก็หายไป อาจส่งผลให้การสนับสนุนในมิติทางด้านสังคม การสนับสนุนการรวมตัวกันของภาควิชาชีพสื่อ ขาดหายไป

นอกจากนั้น นักวิจัยยังศึกษาประสบการณ์ของประเทศสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียพบว่า

กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลของต่างประเทศดึงการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และใช้งานวิจัยในการผลักดันนโยบาย ซึ่งต่างจากของไทยที่การร่างกฎหมายดิจิทัลฯ นั้นขาดการมีส่วนร่วม กระทั่ง กสทช. ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงและได้รับผลกระทบจากกฎหมายยังไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการให้ความคิดเห็น

มีข้อเสนอเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนและมีแผนในการลงมือปฏิบัติ ต่างจากของไทยที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลฯ ไว้กว้างๆ โดยขาดวิสัยทัศน์และแผนลงมือปฏิบัติที่ชัดเจน

ในแง่ของการทำงานร่วมกับองค์กรกำกับดูแล หน่วยงานรัฐจะทำงานร่วมกับองค์กรกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้นำไปปฏิบัติ นอกจากนั้นในกรณีของสหราชอาณาจักรยังมีการออกกฎหมาย Digital Economy Act เพื่อเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ Ofcom ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต่างจากของไทยที่โครงสร้างการทำงานใหม่นั้น กสทช. ไม่ได้ทำงานในลักษณะความร่วมมือกับคณะกรรมดิจิทัลฯ แต่เป็นการดึงอำนาจในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และการใช้งบประมาณของกองทุน กสทช. เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ต่างประเทศ วรพจน์เสนอว่า

นโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม หน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมายหลายส่วนเกี่ยวพันกับการสนับสนุนเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลอยู่แล้ว เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ การส่งเสริมบริการทั่วถึงและเท่าเทียม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน ฯลฯ ดังนั้น กสทช. ควรจัดทำเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลภายใต้ของเขตอำนาจของตน เช่น การออกนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัว หรือจัดทำแผนศึกษาการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ ฯลฯ

คณะกรรมการดิจิทัลฯ ควรเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลเป็นหลัก และทำงานร่วมกับองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเพื่อสร้างและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล

รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงความเป็นอิสระของ กสทช. โดยเฉพาะเมื่อตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ กสทช.

แนวโน้มการกำกับดูแลในต่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่ปล่อยให้ตลาดทำงานมากขึ้น รัฐบาลควรเน้นส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล และแทรกแซงก็ต่อเมื่อศึกษาแล้วพบว่าตลาดไม่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายนั้นได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version