สำหรับในวันงานได้มีการเชิญ วิทยากรคนดังมาร่วมพูดคุยให้ความรู้ภายในงานท่านแรก ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต และที่ปรึกษาด้านวิชาการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าตลอดระยะเวลาตลอด 11 ปีนี้ โรงเรี ยนได้มี การพัฒนา มีความก้าวหน้าด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอน และความก้าวหน้าของความสำเร็จของนักเรียน วันนี้จะมีการแนะนำหลักสูตรสายศิลปะการประกอบอาหาร(เชฟ) เป็นที่แรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึงของนวัตกรรมความก้าวหน้าของการศึกษาที่เกิดขึ้นของโรงเรียน ซึ่งหลักสูตรนี้ถือว่ามีความแตกต่างและโดดเด่น เพราะเป็นหลักสูตรระดับมัธยมปลายสายสามัญทางด้านเชฟ แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นการบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณิตศาสตร์อาหาร วิทยาศาสตร์อาหาร และโภชนาการ รวมถึงงานบริการเข้าไว้กับการประกอบอาหาร สำหรับการประกอบอาหารเองก็เริ่มพัฒนาความชำนาญตั้งแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือความรู้เกี่ยวกับเครื่องปรุงและเครื่องมือ นอกจากนั้นด้วยความที่เป็นหลักสูตรสองภาษา แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งสาระวิชาอื่นๆที่จำเป็นสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาพละศึกษา และวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ดังนั้นนักเรียนที่รู้ตัวภายหลังว่าไม่ชอบหรือไม่ได้อยากประกอบอาชีพพ่อครัวหรือแม่ครัว ก็สามารถเปลี่ยนสาขาวิชาเมื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่สูญเสียโอกาสในการทดสอบต่างๆ
ดร.สุนีย์ สอนตระกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตฯ เปิดเผยว่าหลักสูตรดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มาจากการที่สังคมที่เปิดกว้างและอิสรภาพที่เด็กมีทำให้เด็กสามารถคิดได้เองว่าการเรียนในรายวิชาทั่วๆไปในระดับมัธยมปลายนั้นไม่มีความหมายสำหรับตนเอง ทำให้ไม่สนใจการเรียน ทางโรงเรียนจึงพยายามคิดหาโครงการ และหลักสูตรที่ตอบโจทย์สำหรับเด็กๆยุคปัจจุบัน นั่นคือ การเปิดหลักสูตรระดับมัธยมปลายที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็ก ประกอบกับการที่เมื่อพิจารณาเรื่องความสามารถของคนไทยโดยพื้นฐานก็พบว่ามีความชำนาญ และมีศิลปะในการประกอบอาหารเป็นทุนเดิมอยู่มาก อีกทั้งยังเป็นสาขาอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่แล้ว ทางโรงเรียนจึงทดลองเปิดสายศิลปะการประกอบอาหารซึ่งสอนให้เด็กๆมีความชำนาญในฐานะเชฟ หรือพ่อครัวเพื่อการพาณิชย์ไม่ใช่คหกรรม และได้สรรหาความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหาร คือ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ พร้อมกับได้เชิญอาจารย์ฯ มาเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนและหลักสูตรนี้ด้วย
ดร.นาวิน เยาวพลกุล หรือนาวิน ต้าร์ ให้ความเห็นถึงการเปิดหลักสูตรนี้ในเมืองไทยกับการพัฒนาประเทศและความก้าวหน้าด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศว่า ถือเป็นการดีที่โรงเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต มีการเปิดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในหลักสูตรสายศิลปะการประกอบอาหารที่น่าสนใจเช่นนี้ อีกทั้งเป็นระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาษา คือนักเรียนจะได้เรียนรู้ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นการตอบรับอาชีพเข้าสู่การเปิดการค้าเสรีอาเซียนหรือเออีซี ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในด้านอาหารไทยเท่านั้นแต่เชฟไทยก็กำลังเริ่มมีชื่อเสียงกันในระดับอาเชี่ยนและระดับโลกกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าสอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีความเป็นสากลมากขึ้นทุกที รวมถึงความต้องการในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ต้องการความชำนาญพิเศษด้วย หลักสูตรศิลปะการประกอบอาหารของโรงเรียนสาธิตฯ เน้นปูพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพ่อครัวในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องปรับเปลี่ยนเก่ง และยอมรับความหลากหลายและความไม่แน่นอน
และสำหรับแขกรับเชิญท่านสุดท้าย นวณัฐ ศรียุกต์ศิริ หรือ เจลลี่ แจน เซเลบริตี้สาวสวยที่มีใจรักในด้านการทำอาหารปัจจุบันเป็นเจ้าของร้าน Made By Jellyjan เป็นร้านเบเกอรี่ อยู่ที่สยามพารากอนชั้น G และร้าน ผักบุ้ง เป็นร้านอาหารไทยที่ซอยทองหล่อ 25 อาหารที่ทำเป็นอาหารไทย เหตุที่เลือกทำอาหารชนิดนี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคนิยมทานอาหารต่างชาติกันมาก จึงอยากให้ผู้บริโภคได้หันมาสนใจในอาหารไทยมากขึ้น ซึงสิ่งที่นำมาเป็นวัตถุดิบดูจะเป็นของที่หาง่ายโดยทั่วไปแต่เมื่อนำมาประกอบอาหารสามารถที่จะทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทำให้น่าสนใจและน่าทานมากขึ้นค่ะ แจนคิดว่าหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตฯ มีความแตกต่างและโดดเด่นเพราะเป็นหลักสูตรระดับมัธยมปลายสายสามัญทางด้านเชฟ แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะส่วนมากมักมีการเปิดสอนเป็นระดับอาชีวะ หรือเป็นคหกรรมซึ่งเน้นการทำครัวหรือการฝีมือเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือที่เรียกว่า Home Economics ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีความเป็นสากลมากขึ้นทุกที รวมถึงความต้องการในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ต้องการความชำนาญพิเศษด้วย และสำหรับนักเรียนที่จบสาขาวิชานี้ยังสามาถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้ทุกหลักสูตร และทุกที่โดยเฉพาะด้านการประกอบอาหาร และการโรงแรม ทั้งในหลักสูตรอุดมศึกษาไทย และนานาชาติ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดการเรียนการสอนแบบสองภาษาที่แท้จริง ตั้งแต่ในระดับเตรียมอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจัยที่ส่งผลให้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตประสบความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนตามปรัชญา และอุดมการณ์ที่ได้กล่าวแล้วคือ แนวทางการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาษาแบบองค์รวม คือสอนภาษาแม่ คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไปอย่างเท่าเทียม โดยใช้หลักสูตรแบบองค์รวมซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการหลักสูตรนานาชาติระดับสากลเข้าเป็นเนื้อเดียวกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์จุดดี จุดเด่น ของแต่ละหลักสูตรแล้วผสมผสานกันหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า หลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวมหรือ Unified Bilingual Curriculum โดยที่ครูผู้สอนภาษา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะมีความสามารถในการใช้ทั้งสองภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงเรียนรู้ และเปิดกว้างต่อวัฒนธรรมนานาชาติอย่างทัดเทียมและ สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปีการศึกษา 2558
?ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครหรือ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรเพิ่มเติม โทร.0-2792-7500-4 หรือ www.facebook.com/SatitRangsitSchool
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านงานประชาสัมพันธ์)
โทร.02-284-2662 แฟกซ์. 02-284-2287,2291 www.kanokratpr.com
คุณกนกรัตน์ วีรานุวัตติ์ E-mail: [email protected]