สพฉ.จัดแข่งขันแรลลี่กู้ชีพ เน้นสร้างประสบการณ์ให้ทีมกู้ชีพในหลายหลายสถานการณ์ “ระเบิด-ผู้ป่วยติดเชื้อ-อุบัติเหตุ” เชื่อเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ เขตสุขภาพที่ 7 ซิวแชมป์ทุกระดับการแข่งขัน

ศุกร์ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ ๑๐:๔๗
เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต จ.ปทุมธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการแข่งขันการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS Rally) ระดับชาติ ครั้งที่ 5 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันคือตัวแทนที่ชนะเลิศจากการแข่งขันในระดับเขตจาก 12 เขตทั่วประเทศ โดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 2.ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้น (BLS) ประกอบด้วยพนักงานฉุกเฉินการแพทย์และอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ และ 3.ทีมชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) โดยจะแข่งขันกันเป็นฐานเสมือนการแข่งขันแรลลี่ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องร่วมกันแก้โจทย์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6 สถานการณ์ ซึ่งแต่ละสถานการณ์มีการประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน อาทิ สถานการณ์ระเบิดที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก สถานการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล สถานการณ์การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การช่วยทำคลอดฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อ Ebola เป็นต้น

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า การแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นฝึกทักษะและทบทวนความรู้ให้กับทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับทีมกู้ชีพที่อาจจะยังไม่เคยพบกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วย เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อ Ebola ทีมกู้ชีพที่เข้าช่วยเหลือนั้นจะต้องรู้ถึงแนวทางป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อตามหลักสากลซึ่งทีมกู้ชีพที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ครบถ้วนเพื่อไม่ไปสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หรือในสถานการณ์เหตุการณ์ระเบิดนั้นก่อนอื่นทีมกู้ชีพจะต้องมีการประเมินความปลอดภัยก่อน ต่อมาจึงพิจารณาถึงกลไกการบาดเจ็บ ความรุนแรงของเหตุการณ์ โดยหากมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเกินขีดความสามารถจะต้องรีบขอกำลังสนับสนุน พร้อมกันนี้จะต้องทำการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงไว้ในจุดที่ปลอดภัยด้วย

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่เราพบได้บ่อยครั้งและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดของคนไทย คือ อุบัติเหตุจราจร ซึ่งทีมกู้ชีพที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีจะต้องมีการประเมินสภาพแวดล้อมของจุดเกิดเหตุเพื่อป้องกันอันตรายสำหรับทีมและผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย อาทิ หากเกิดอุบัติเหตุบนถนนจะต้องนำกรวยจราจรไปวางเตือนห่างจากจุดเกิดเหตุอย่างน้อย 100 เมตร จากนั้นให้รีบประเมินผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ คอและหลัง

อย่างไรก็ตามสำหรับผลการแข่งขันการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS Rally) ทีมที่ชนะเลิศในระดับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) คือ เขตสุขภาพที่ 7 คือ โรงพยาบาลมหาสารคาม รองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ เขตสุขภาพที่ 4 โรงพยาบาลสระบุรี และรองชนะเลิศอันดับสอง คือ เขตสุขภาพที่ 1 โรงพยาบาลลำปาง ส่วนในระดับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้น (BLS) ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ เขตสุขภาพที่ 7 กู้ชีพซำสูง รองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ เขตสุขภาพที่ 10 ทีมกู้ชีพยโสธร และรองชนะเลิศอันดับสอง คือ เขตสุขภาพที่ 2 กู้ชีพเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี และในระดับ ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ เขตสุขภาพที่ 7 กู้ชีพเมืองมหาสารคาม รองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ เขตสุขภาพที่ 11 กู้ชีพพังงา และรองชนะเลิศอันดับสอง คือ เขตสุขภาพที่ 4 กู้ชีพสระบุรี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ