พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยประเทศไทยได้ถูกลดลำดับความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้อยู่ในลำดับ Tier ๓ ซึ่งหมายถึง ประเทศไทยไม่ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ เช่น การใช้แรงงานเด็ก การค้าประเวณี การใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น การค้ามนุษย์นั้น ถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติโดยรวมทั้งนี้ รัฐบาลโดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน ๕ คณะ เพื่อดูแลปัญหาค้ามนุษย์ในแต่ละด้าน ประกอบด้วย
๑) คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
๒) คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน
๓) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน
๔) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
๕) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ มอบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ผลักดันเร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวังรวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการ รวมทั้งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเพื่อให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองเด็ก สตรีจากการค้ามนุษย์ ความรุนแรงทางเพศ และ ความรุนแรงในครอบครัว ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเพิ่มสมรรถนะพนักงานสอบสวนให้มีทักษะในการทำงานเชิงบูรณาการ และมีความละเอียดอ่อนในมุมมองมิติหญิงชาย ความหลากหลายของรูปแบบความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และประเด็นเชิงลึกในมิติการค้ามนุษย์ สามารถคัดแยกผู้เสียหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งปรับฐานความคิดระบบทำงาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนหญิงชายได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และเพื่อให้การบังคมใช้กฎหมายฐานความผิดค้ามนุษย์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้เป็นเวที เพื่อเปิดพื้นที่ให้พนักงานสอบสวน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้านการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และปรับฐานความคิด ระบบการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนได้ฝึกปฏิบัติในกระบวนการสอบสวนโดยใช้มุมมองมิติหญิงชาย ความหลากหลายของรูปแบบความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และประเด็นเชิงลึกในมิติการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย