นายวิมล จันทรโรทัย โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ออกกฎกระทรวงฯ เรื่อง การระงับการต่อใบอนุญาตการทำประมง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา โดยมีผลถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 นั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงของไทยที่เข้าไปทำการประมงในลักษณะร่วมทุน (Joint Venture) กับภาคเอกชนของอินโดนีเซีย ซึ่งตามกฎระเบียบการร่วมทุน เรือประมงไทยจะต้องถอนทะเบียนเรือไทยและโอนสัญชาติเป็นเรือประมงอินโดนีเซียก่อนจึงจะสามารถขอใบอนุญาตทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียได้ นอกจากนี้ ยังได้ออกกฎระเบียบกำหนดให้เรือประมงที่ต่อจากต่างประเทศใช้ลูกเรือประมงอินโดนีเซียทั้งหมด ส่งผลให้ในปัจจุบันเรือบรรทุกสัตว์น้ำของไทย จำนวน 4 ลำ เรือประมงภายใต้บริษัทร่วมทุนจะต้องเป็นสัญชาติอินโดนีเซียแล้ว จำนวนประมาณ 200 ลำ มีคนงานในเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,000 คน ต้องจอดเทียบท่าที่ท่าเรืออินโดนีเซีย โดยที่ทางการอินโดนีเซียไม่อนุญาตให้นำสัตว์น้ำกลับมาประเทศไทยด้วยเรือบรรทุกสัตว์น้ำดังกล่าว ทำให้บริษัทร่วมทุนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเรือประมง ลูกเรือ และสัตว์น้ำบนเรือ คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,500,000 บาท/ลำ/เดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง พร้อมเจ้าหน้าที่กรมประมงไปเยือนกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมเจรจาหารือกับ Dr. Gellwynn Jusuf อธิบดีกรมจับสัตว์น้ำของอินโดนีเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือทำการประมงระหว่างไทยกับอินโดนีเชีย
ด้านนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือในครั้งนี้ มีประเด็นหารือที่สำคัญ 5 ประเด็น ด้วยกัน คือ 1. การจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงฉบับใหม่ ซึ่งขอบเขตความร่วมมือตามที่ได้ระบุไว้ในร่างบันทึกความเข้าใจฯ อาทิ การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยอาศัยเวทีการประชุมระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี การส่งเสริมมาตรการของรัฐเจ้าของท่าเรือเพื่อป้องกันยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การแบ่งปันข้อมูลและข้อสนเทศเกี่ยวกับการนำเข้า/ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ หากมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และการจดทะเบียน หรือการจดทะเบียนเรือประมงตามที่ร้องขอ และส่งเสริมการลงทุนด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูป
สำหรับร่างเอ็มโอยูดังกล่าว ได้ข้อยุติจากฝ่ายไทยและอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว (ร่างสถานะวันที่ 8 ตุลาคม 2556) ในส่วนของฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามระหว่างกัน ทั้งนี้ จากการเจรจากับฝ่ายอินโดนีเซีย ปรากฏว่า ทางอินโดนีเซียขอให้ฝ่ายไทยรอให้ครบกำหนดของการระงับการต่อใบอนุญาตการทำประมงชั่วคราว (moratorium) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2558 และจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายด้านการประมงของอินโดนีเซีย โดยฝ่ายอินโดนีเซียจะปรับนโยบายโดยพิจารณาจากผลการประเมินของตรวจสอบเรือประมงภายใต้บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างภาคเอกชนไทยและอินโดนีเซียที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ในขณะนี้
2. ฝ่ายอินโดนีเซียประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนข้อมูลการถอนทะเบียนเรือของเรือประมงไทยที่มาทำประมงร่วมกับภาคเอกชนอินโดนีเซีย รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่าเรื่องนี้ถูกบรรจุอยู่ภายใต้เอ็มโอยูเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว โดยฝ่ายไทยยินดีที่จะดำเนินการภายหลังจากการลงนามในร่างเอ็มโอยูทั้งสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว
3. ฝ่ายไทยขอทราบรายละเอียดเรื่องขั้นตอนของการตรวจสอบ ตามกฎกระทรวงกิจการทางทะเล
และประมง ฉบับที่ 56/2014 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2014 ซึ่งเกี่ยวกับการระงับการออกใบอนุญาตต่างๆ และข้อเสนอเรื่องการใช้มาตรการอนุรักษ์อื่นๆ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2/2015 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ว่าด้วยการสั่งห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนล้อมทำการประมงในน่านน้ำ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยเสนอให้ฝ่ายอินโดนีเซียพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ เช่น กำหนดเขตทำการประมงและเขตอนุรักษ์ รวมทั้งการกำหนดขนาดตาอวนที่เหมาะสม พร้อมให้ระยะเวลาปรับเปลี่ยน (transition period) แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่ายขอให้ฝ่ายไทยทำหนังสือมาเป็นทางการเพื่อขอทราบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางอินโดนีเซียจะได้หารือเชิงเทคนิคที่ชัดเจนต่อไป
4. ฝ่ายอินโดนีเซียเน้นย้ำว่า อินโดนีเซียมีนโยบายในการแยกประเภทเรือที่ทำการประมงร่วมทุน
ที่ถูกต้องตามกฎหมายออกจากเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมาย และประสงค์จะสนับสนุนการทำการประมงของเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
5. ฝ่ายอินโดนีเซียรับทราบข้อเสนอของฝ่ายไทยที่จะให้องค์การสะพานปลา ช่วยผู้ประกอบการไทยประสานในการทำประมงร่วมกับอินโดนีเซียอย่างถูกต้อง รวมถึงการที่ฝ่ายไทยแสดงเจตจำนงที่จะให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐของทั้งสองประเทศที่จะช่วยกันควบคุม และกำกับดูแล ไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
ทั้งนี้ ในการร่วมเจรจาดังกล่าว ฝ่ายอินโดนีเซียแสดงความยินดีที่ไทยมีพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ได้แสดงความพอใจที่พระราชบัญญัติการประมงฯ ฉบับใหม่มีการปรับบทลงโทษสำหรับเรือประมงไทยที่ออกไปทำการประมงผิดกฎหมายในต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดให้เรือประมงติดตั้งระบบติดตามเรือด้วยดาวเทียม (VMS)
“ผลจากการเจรจาความร่วมมือทำการประมงระหว่างไทยกับอินโดนีเชียในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ฝ่ายไทยและอินโดนีเซียสามารถลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงฉบับใหม่ได้ในเร็ววัน เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงร่วมที่เกิดขึ้น และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้” นายจุมพล กล่าว