เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ศูนย์สนเทศและหอสมุด จัดกิจกรรมต้อนรับวันแห่งความรัก รณรงค์ บอกรักด้วยหนังสือ ตอน รักจัดให้(อ่าน) ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารีย์ ชื่นวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์สนเทศและหอสมุดการศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมในพิธีเปิดงาน และ นายไพวรินทร์ ขาวงาม นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2538 ร่วมขับลำนำกวีรักบันดาลใจ
ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการบอกรักด้วยตัวหนังสือ เช่น หนังสือบอกรักจากนักศึกษาหลากหลายมหาวิทยาลัย ประกวด book bouquet แข่งขันไอเดียแปลงโฉมหนังสือให้เป็นของขวัญสุดประทับใจ พบกับหลากหลายไอเดีย บอกรักด้วยหนังสือกับดีไอวายของขวัญง่ายๆจากเพจ “คนบ้าหนังสือ(สวย)” พร้อมทั้งยังได้ชมมินิคอนเสิร์ตเพลงรักจากวรรณกรรมจาก นาถ เดอะวอยท์ ที่มาสร้างสีสันบรรยากาศในงานให้อบอวลไปด้วยความรัก
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า เนื่องในเทศกาล “วันวาเลนไทน์” หรือวันแห่งความรัก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.ร่วมกับ เครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) ได้สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “มอบหนังสือ สื่อความรัก สื่อความสุขวันวาเลนไทน์” โดยเก็บข้อมูลจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 1,030 คนพบว่า ประเภทของหนังสือที่อยากมอบให้คนรักมากที่สุด ได้แก่ หนังสือเสริมสร้างวิธีคิดและเพิ่มกำลังใจ (ร้อยละ 15.2) รองลงมาคือ หนังสือท่องเที่ยวและสุขภาพ (ร้อยละ 14.4) และหนังสือเกี่ยวกับการเรียน (ร้อยละ 13.4) ตามลำดับ
ส่วนข้อดีของการมอบหนังสือเป็นของขวัญ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.8 มองว่าการมอบหนังสือเป็นการส่งมอบความรู้ และให้ข้อคิดที่มีประโยชน์ ร้อยละ 8.8 มองว่าหนังสือเป็นของขวัญที่มีคุณค่า สื่อถึงความรักความปรารถนาดี ขณะที่ร้อยละ 8.4 มองว่าหนังสืออยู่ได้นาน เก็บเป็นที่ระลึกได้ สามารถอ่านซ้ำ หรือส่งต่อให้ผู้อื่นได้ สำหรับบุคคลที่อยากมอบหนังสือให้มากที่สุดคือ แฟน / คนรัก ร้อยละ 27.7 รองลงมาคือ พ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพ ร้อยละ 25.6 เพื่อน ร้อยละ 19.5 และเด็กยากจน / ผู้ด้อยโอกาส ร้อยละ 17.3
ผลสำรวจยังชี้ว่า วัยรุ่นอยากให้ดารา นักร้อง นักแสดง เป็นต้นแบบในการมอบของขวัญด้วยหนังสือ ร้อยละ 20.9 รองลงมาได้แก่ พ่อ แม่ ร้อยละ 17.5 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 14.7
นางสุดใจ กล่าวว่า แม้การมอบดอกกุหลาบยังคงครองอันดับแรกๆที่คนตั้งใจจะมอบให้กันในวัน วาเลนไทน์ แต่การมอบหนังสือเป็นสื่อบอกรัก ก็เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนังสือมีให้เลือกหลากหลายประเภทตามความต้องการ และยังมีคุณค่าที่ลึกซึ้งหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบกำลังใจ และความปรารถนาดีต่อกันตามผลสำรวจในครั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังเช่น เทศบาลเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ก็ออกมารณรงค์ให้คู่รักมอบหนังสือดีๆให้แก่กันในวันวาเลนไทน์
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า หนังสือจุดประกายความคิดสิ่งดีๆจากการอ่านหนังสือนั้นคงทนไม่มีวันหายไปไหน หนังสือจึงเหมาะที่จะเป็นหนึ่งในของขวัญที่มีคุณค่าในช่วงเวลาสำคัญของคนรุ่นใหม่ เช่น วันวาเลนไทน์ วันรับปริญญา โดยทางมหาวิทยาลัยพยายามรณรงค์ให้การอ่านเป็นไลฟ์สไตล์ของนักศึกษา ไม่ให้ภาพการอ่านหนังสือหรือการเข้าห้องสมุดผูกติดกับการเรียนการสอบ ที่เคร่งเครียด แต่ทำให้การอ่านเติมเต็มชีวิตได้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยปรับทัศนคตินี้คือ ห้องสมุดในสถานศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เปลี่ยนแนวคิดเดิมๆว่าห้องสมุดห้ามพูดคุย เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก ห้องสมุดของโลกในยุคนี้ เปิดกว้างมากขึ้น เปลี่ยนภาพลักษณ์จากการเป็นสถานที่อันทรงภูมิ เคร่งขรึม ที่มีไว้สำหรับเก็บหนังสือ ให้กลายเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาได้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นมิตร เป็นศูนย์กลางการพบปะพูดคุยของนักเรียนนักศึกษา สามารถทำงานกลุ่ม ปรึกษาหารือกันได้ และแบ่งพื้นที่อีกส่วนสำหรับการอ่านหนังสือเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เปลี่ยนจากการนั่งฟังเลกเชอร์ มาลงมือปฏิบัติ โดยการพูดคุย ปรึกษาหารือ และค้นคว้ามากกว่าการท่องจำ จึงควรสร้างบรรยากาศของห้องสมุดให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย
“ผมคิดว่า คนที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่อ่านนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับคนอ่านหนังสือไม่ออก จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ หนทางหนึ่งคือ การเปลี่ยนห้องสมุดแนวคิดใหม่ เราพบว่านักศึกษามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้นหลายเท่าตัวหลังการปรับปรุง และแนวโน้มห้องสมุดควรขยายเวลาเปิด เพื่อเป็นสถานที่สร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางให้นักเรียน นักศึกษาในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ดีกว่าไปใช้ชีวิตในศูนย์การค้า รวมถึงช่วงสอบ สามารถเปิดถึง 24 ชั่วโมง แต่ต้องมีมาตรการเรื่องความปลอดภัยด้วย ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากมายเลยอยู่ที่การปรับทัศนคติด้านความคิดมากกว่า”
รศ.ดร.วรากรณ์ ยังเสนอให้ มีโครงการรณรงค์ให้ศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่งหนังสือดีๆกลับไปให้ห้องสมุดที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้ห้องสมุดมีหนังสือหลากหลายเพิ่มขึ้น
นายณรงค์เดช แซ่เต๋ง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า ตนเองมักจะเลือกหนังสือแทนการ์ดอวยพรให้กับคนสำคัญในช่วงเทศกาลต่างๆ เพราะหนังสือมีหลากหลายเรื่องราว สามารถสื่อความหมายได้ตรงกับใจของเราที่ต้องการ วาเลนไทน์นี้อยากเชิญชวนเพื่อนๆให้ลองเลือกหนังสือสักเล่มที่มีความหมายดีๆ มอบให้กับคนที่เรารัก ปีนี้ตนเลือก หนังสื่อชื่อว่า เพียรสร้างกำลังใจ มอบให้กับคนสำคัญ เพราะอยากให้เธอรู้สึกว่าผมอยู่ข้างๆเธอเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีคนดังนักเขียนที่ชวนคนรุ่นใหม่เลือกมอบหนังสือแทนคำบอกรัก ไม่ว่าจะเป็น อาทิ
เบ๊นซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย อยากจะมอบหนังสือชื่อว่า ค่ำคืนนี้ ผลงานเขียนของ เอคุนิ คาโอริ (หนังสือแปล)
“ผมว่าหนังสือเล่มนี้ เล่าความสัมพันธ์ได้เรียบง่าย เจือจางและซึมลึกดี เป็นรสชาติที่ถูกจริตผม เลยอยากมอบให้คนที่รัก เพราะอ่านแล้วลอยๆ หลับสบายดี และอยากรู้ว่าเขาจะคิดเหมือนเราไหม”
เอ๋ นิ้วกลม เลือก ปีศาจ ผลงานเขียนของ เสนีย์ เสาวพงศ์
“อยากให้หนุ่ม-สาว ชาวไทยทุกคนได้อ่าน เพราะเชื่อว่าพลังของเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มนี้จะปลุกเร้าให้คนหนุ่ม-สาวเห็นถึงความศรัทธาและได้ฉุกคิดว่าตนเองจะนำวิชาความรู้ทักษะความสามารถที่มีมาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไร”
ปิยพัชร์ (อาร์ต) จีโน เลือกหนังสือที่ชื่อว่า โลกนี้มันช่างยีสต์ ผลงานเขียนของ แทนไท ประเสริฐกุล
“เป็นหนังสือที่รวบรวมมาจากการบันทึกไดอารี่ออนไลน์ และเขียนจากชีวิตจริงของครูฝึกสอนในโรงเรียนหญิงล้วน มันเป็นเรื่องราวระหว่างครูสุดกวนกับเด็กนักเรียนหญิงที่ผมคิดว่านำมาเล่าผ่านตัวหนังสือได้ฮามากๆ เลยอยากส่งต่อให้คนที่ผมรักได้หัวเราะไปด้วย”