เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่าภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแห่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก แต่เนื่องจากจีนและญี่ปุ่นมีการชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น น้ำหนักการลงทุนของโลกจึงมุ่งเน้นมาที่ประเทศกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่มีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ เป็นประธาน บริษัท ซิโก้ ลอว์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ตอนนี้สำนักงานกฎหมายของเราได้เปิดสำนักงานทั้งที่โฮจิมินห์และที่ฮานอย โดยมีความต้องการจากลูกความที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างมากเลยทีเดียว เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติ และความมีเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนประชากรในวัยแรงงานที่มีจำนวนมาก ทั้งค่าจ้างแรงงานยังไม่สูงมาก ทำให้ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก”
อย่างไรก็ตามการเปิดเออีซีในปลายปี 2558 รวมทั้งการเปิดตลาดเสรีระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และออสเตรเลีย จะทำให้ตลาดมีผู้บริโภคเกือบ 2 พันล้านคน นับเป็นโอกาสทองของการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสการลงทุนในลักษณะเดียวกันกับเวียดนาม เช่นเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา “เรามองว่าการไม่รู้จักตลาดและการขาดเงินทุนเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ผู้ลงทุนไทยควรเริ่มจากการสำรวจจุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการของตัวเองก่อน และแนะนำให้เดินทางไปยังประเทศเป้าหมาย ทำความรู้จักกับคู่ค้าหรือวงการค้าในประเทศนั้นๆ ปรึกษาหน่วยงานไทยที่ให้การสนับสนุนข้อมูลด้านการลงทุนในต่างประเทศ เช่น บีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เป็นต้น” นายจุลพงศ์ แนะนำเพิ่มเติม
สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้าง และโรงแรม ในกลุ่มประเทศ AEC นั้น เป็นการลงทุนที่น่าสนใจเนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม เป็นกลุ่มประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคมากมาย จำเป็นต้องใช้สินค้าในกลุ่มของวัสดุก่อสร้าง ส่วนด้านการโรงแรม เมื่อมีนักลงทุนเข้าไปมากขึ้น ตลาดด้านโรงแรมจึงเติบโตตาม และไม่ได้ไปเพียงที่หัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายที่ต้องการที่พักที่ดีๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
นักลงทุนข้ามชาติส่วนใหญ่จะเลือกสิงค์โปร์เป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆในภูมิภาคนี้ ให้เขาเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯแล้วกระจายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะก้าวไปสู่จุดหมายดังกล่าวนี้ การแก้ไขกฎหมายภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องจัดกระบวนความคิดของหน่วยงานภาครัฐของเราให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายจุลพงศ์กล่าวสรุป