ในปี 60 ชูแนวคิด Think Global, Act Local เชื่อมโยง ปรับเปลี่ยน แชร์ต่อ พร้อมเดินหน้าสู่ความเป็นดีไซน์แบรนด์อย่างเต็มตัว
ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป มีการผสมผสานกระแสทางความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นสากลและท้องถิ่นเข้าด้วยกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสภาพของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและก้าวตามให้ทัน ซึ่งบริษัทฯ ก็จะต้องปรับตัวตามกระแสสังคมให้ทัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดธิ้งโกบอลแอคโลเคิล(Think Global Act Local) หรือการผสมผสานกระแสทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมความเป็นสากลและท้องถิ่น (Glocality) เข้าด้วยกัน
“กว่าสิบปีที่ผ่านมา จาร์เค็นฯ จับตาดูความเป็นแปลงของสภาวะสังคมและเศรษฐกิจที่มีอยู่ตลอดเวลา และแม้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเอง ฉลาดคิด ฉลาดเลือกมากขึ้น
แต่ผู้บริโภคก็ยังคงเสพย์ความเชื่อ และตามกระแสโลกอยู่ (Global Trend) ทำให้หลากหลายแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศหันมาทำแคมเปญที่ให้สังคมมีส่วนร่วมกับแบรนด์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การออกแบบร้านPop-up store ของกาแฟ illy คอลเลคชั่นแนว Street Art ของ Prada รวมถึงแบรนด์แฟชั่น Roberto Cavalli ที่เริ่มออกมาทำเฟอร์นิเจอร์และอินทีเรียร์ดีไซน์ หรือแม้แต่วิศวกรอย่าง Tom Dixon ก็ออกมาทำเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และบริษัทสถาปนิก ทั้งนี้ Glocality คือการทำให้แบรนด์เข้าไปถึงสัมผัสถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคเข้าหาหรือเดินตามหาแบรนด์”
ดร.กุลเดช กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ของบริษัทฯ ใน 3 ปีนี้ จะเน้นขับเคลื่อนให้งานดีไซน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคม ด้วยการ เชื่อมโยง-ปรับเปลี่ยน-แชร์ต่อ ความเหมือนและความแตกต่างของวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ในโลก ไม่ว่าเอเชีย ยุโรป อเมริกาหรือออสเตรเลีย ให้คนไทยเข้าใจผ่าน 3 วิธี คือ การสร้างแรงบันดาลใจ และประสบการณ์จากการเดินทาง (Inspiration and
education) การกระจายงานดีไซน์เข้าสู่ในชุมชน และสังคม เข้าไปส่งเสริม ตอบแทน และมีส่วนร่วมกับคนในสังคมทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดผ่านทางโครงการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มช่องทางและวิธีการสื่อสาร ปรับภาษาของสถาปนิก และดีไซเนอร์ที่มักจะเข้าใจยากและซับซ้อน ด้วยวิธีการสื่อสารในรูปแบบใหม่ นำเสนอเรื่องราวที่ผู้บริโภคอยากฟังให้เข้าใจง่าย ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญและได้ประโยชน์จากงานออกแบบ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของส่งเสริมการทำธุรกิจที่ตีค่าด้วยเม็ดเงิน“สิ่งที่สามารถมองภาพได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ โครงการสถาปัตย์บำบัดที่ได้ร่วมกับทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ที่เป็นการนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม และทางการแพทย์มาช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บป่วย ให้กับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยเข้าไปช่วยในการปรับสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย และมีชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีโครงการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในให้กับโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ให้กลายเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของจังหวัด และภาคเหนือตอนล่าง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุภายในที่อยู่อาศัย เพื่อเปลี่ยนมุมมองของแบรนด์ JARKEN จากของเรา (ours) เป็นของทุกคน (theirs) เปลี่ยนจากที่นี่ (here) เป็นที่ไหนก็ได้ (anywhere) และทำให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมงานดีไซน์ในแบบอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ใช่แค่
ความสวยงาม ความชอบ หรือสไตล์ใดๆ อีกต่อไป” ดร.กุลเดช กล่าว
ดร.กุลเดช กล่าวว่าบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2558 นี้ จะมีรายได้รวมประมาณ 500ล้านบาท หรือโตขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 15% จากปี 2557 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 80% สำหรับธุรกิจในปัจจุบัน และ 20%สำหรับธุรกิจใหม่ และตั้งเป้ามีรายได้เติบโตขึ้นจนแตะ 600 ล้านบาทภายในปี 2560 นี้ โดยอาศัยแนวคิด Think Global, Act Local ในการเดินหน้าสู่ความเป็นดีไซน์แบรนด์อย่างเติมตัว จากการขยายธุรกิจการให้บริการงานออกแบบสถาปัตยกรรม-สถาปัตยกรรมภายใน งานรับเหมาก่อสร้าง งานกราฟฟิกดีไซน์ ที่ปรึกษาการพัฒนาแบรนด์สินค้าและบริการ สู่ผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคสังคมนี้ได้อย่าง 360º อีกทั้งการขยายฐานลูกค้าสู่ AEC และต่างประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น