คณะผู้วิจัยของชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปิดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นในประเด็นการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลี่ยม รอบที่ 21: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2558 ด้วยเทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบเชิงชั้นภูมิหลายชั้น (Stratified Multi-Stage sampling) ในการเข้าถึงผู้ตอบแบบสอบถามและความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ซึ่งเป็นวิธีการสุ่มที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางสถิติ และมีความเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ดำเนินการสำรวจ โดยมีขนาดตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 1,200 ตัวอย่าง โดยผลสำรวจที่สำคัญค้นพบว่า
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่าตัวอย่างร้อยละ 22.1 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 28.7 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 30.7 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 14.7 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 3.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงการติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการเสวนาเวทีกลางเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 14.7 ระบุติดตามทุกประเด็น ในขณะที่ร้อยละ 51.3 ระบุติดตามบ้างเป็นบางประเด็น ในขณะที่ร้อยละ 34.0 ระบุไม่ได้ติดตาม
นอกจากนี้ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 84.4 ระบุเห็นด้วยที่รัฐบาลเปิดเวทีกลางเสวนารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลี่ยมครั้งที่ 21 โดยระบุเหตุผลว่า ประชาชนจะได้รับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาของแต่ละฝ่าย/รัฐบาลจะได้ความคิดเห็นที่หลากหลายประกอบการตัดสินใจ/ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ /จะได้เลือกข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด/เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย/เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม/เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนทุกคนจึงมีสิทธิรับรู้ข้อมูล ในขณะที่ร้อยละ 15.6 ระบุไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากดูละครน้ำเน่า/ไม่จริงใจในการแลกเปลี่ยน/เสียเวลา/สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น/ไม่มีใครจริงใจในการแก้ปัญหามีแต่การเถียงกัน ไม่มีประโยชน์ /เปิดเวทีไปก็เท่านั้น เพราะไม่ได้เอาข้อมูลมาใช้จริง
สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างต่อความเหมาะสมของการถ่ายทอดสดการเสวนาเวทีกลางเกี่ยวกับพลังงานเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลโดยพร้อมกัน นั้นพบว่า ร้อยละ 89.9 ระบุคิดว่าเหมาะสม โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ประชาชนควรได้รับรู้รับทราบ/ประชาชนจะได้รับรู้รับทราบข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น/เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัว/เป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอีกทางหนึ่ง/เป็นการยืนยันความโปร่งใสในการดำเนินงาน/ลดความขัดแย้ง /เป็นช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทุกฝ่าย ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะ อาจทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง/อาจมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ/เป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ/เป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า/ควรดำเนินการเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า/ความมั่นคงทางด้านพลังงานไม่ได้เกิดจากการเสวนาบนเวที ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 82.5 เห็นว่าการเปิดให้มีการถ่ายทอดสดนั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ในขณะที่ ร้อยละ 17.5 ระบุคิดว่ารัฐบาลยังไม่มีความจริงใจ
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้คือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่าง กรณีความสำคัญของการสำรวจปิโตรเลี่ยม เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ นั้นผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 85.9 ระบุคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยให้เหตุผลว่า เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลัง/จะได้วางแผนการใช้พลังงานได้อย่างถูกต้อง/มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ/เกรงว่าในอนาคตอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน/พลังงานเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน และการพัฒนาประเทศชาติ/ปัจจุบันพลังงานลดน้อยลงทุกที ต้องเตรียมความพร้อม/จะได้มีแหล่งพลังงานสำรอง ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุ คิดว่าไม่สำคัญ เพราะ ถึงอย่างไรประชาชนก็ยังต้องซื้อพลังงานในราคาที่แพงอยู่ดี มีเพียงคนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์/ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์/สำรวจไปก็เหมือนเดิม สิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและเวลา
และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจในข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลี่ยมเปรียบเทียบระหว่างหน่วยงานต่างๆ นั้นพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 33.0 ระบุมั่นใจในข้อมูลของหน่วยงาน/กระทรวง กรม ของภาครัฐมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 9.2 ระบุมั่นใจในข้อมูลของหน่วยงาน/ฝ่ายที่เห็นแย้งมากกว่า ร้อยละ 29.7 ระบุมั่นใจในข้อมูลของทั้งสองฝ่ายพอๆกัน และร้อยละ 28.1 ระบุไม่มั่นใจในข้อมูลของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างกรณี ความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการขาดแคลนพลังงานในอนาคต นั้นพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 90.4 ระบุคิดว่าจำเป็น เพราะ เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง/ถ้าพลังงานไม่พอใช้ จะไม่สามารถพัฒนาประเทศได้/ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี/หวังว่าจะมีสักวันที่คนไทยได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง/กันไว้ดีกว่าแก้/จะได้ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติมาก/ถ้ามีการวางแผนดี จะช่วยลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้/ช่วยรักษาสมดุลย์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ร้อยละ 9.6 ระบุคิดว่าไม่จำเป็น เพราะ คิดว่ามีพอใช้อยู่แล้ว/เป็นผลประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ของประชาชนทั้งประเทศ/ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นดีกว่า
สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างต่อข้อมูลเกี่ยวกับการสัมปทานปิโตรเลี่ยมว่าเป็นข้อมูลทางด้านเทคนิคเฉพาะ หรือเป็นข้อมูลที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ นั้นผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 50.7 ระบุคิดว่าเป็นข้อมูลทางด้านเทคนิคเฉพาะ ในขณะที่ร้อยละ 49.3 ระบุคิดว่าป็นข้อมูลที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ และเมื่อให้ตัวอย่างจัดอันดับความสำคัญของประเด็นเกี่ยวกับการสัมปทานปิโตรเลี่ยมนั้น พบว่า อันดับ 1 คือ โอกาสที่ประเทศจะพบแหล่งก๊าซมากขึ้น (คิดเป็นร้อยละ 35.8 ค่าร้อยละที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว) อันดับที่ 2 คือ การกำหนดเงื่อนไข ผลประโยชน์ให้รัฐได้เงินมากขึ้น (คิดเป็นร้อยละ 32.2 ค่าร้อยละที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว) และอันดับที่ 3 คือ กระบวนการคัดเลือกผู้รับสัมปทานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ (คิดเป็นร้อยละ 32.0 ค่าร้อยละที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว)
ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างกรณี การตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการสัมปทานปิโตรเลี่ยมนี้โดยเร็ว นั้นผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 87.1 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ระบุไม่เห็นด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่เห็นว่าจะสามารถให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนต่อประชาชนเกี่ยวกับการสำรวจปิโตรเลี่ยม คือ กระทรวงพลังงาน (ร้อยละ 70.9) รองลงมาคือนักวิชาการ (ร้อยละ 53.4) สื่อมวลชน (ร้อยละ 42.2) บริษัทเอกชนด้านพลังงาน (ร้อยละ 32.2) NGO (ร้อยละ 15.4 ) และหน่วยงานอื่นๆ อาทิ เครือข่ายประชาสังคมต่างๆ /องค์กรระหว่างประเทศ /ผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญโดยตรง (ร้อยละ 3.6) ตามลำดับ
คุณลักษณะทางประชากรของผู้ตอบแบบสอบถาม
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 48.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 51.9 เป็น เพศหญิง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุ พบว่าตัวอย่างร้อยละ 5.6 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.6 ระบุอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 22.8 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 22.7 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 32.3 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 24.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช./เทียบเท่า ร้อยละ 14.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส./เทียบเท่า ร้อยละ 30.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี
นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 29.5 ระบุประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 20.3 ระบุเป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 15.6 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป/เกษตรกร ร้อยละ 11.2 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.9 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 9.3 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.2 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
และเมื่อพิจารณาจำแนกตามรายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.3 ระบุมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 27.0 ระบุมีรายได้ 5,001—10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.6 ระบุมีรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 23.5 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 15.6 ระบุมีรายได้ส่วนตัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้รวมของครอบครัวต่อเดือนพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 22.8 มีรายได้รวมของครอบครัวไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 77.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวรวมมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ