นายบรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารกับสังคม และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างพลังพลเมือง พลังชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นการจัดการตนเอง รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อย่างยั่งยืน กิจกรรมในการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย เวทีสมัชชา เวทีประชุมวิชาการนำเสนอผลงานในรูปแบบบทความและโปสเตอร์ นิทรรศการตลาดนัดความรู้บทเรียนความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น การแข่งขันประกวดภาพถ่ายและโลโก้ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างบูรณาการ ต้องอาศัยการทำงานจากทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน
นายบรรจง กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรม ซึ่งในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นแกนนำองค์กรทางสถาบันการศึกษา ต้องการที่จะสนับสนุนการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมพลังชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคีอื่นๆ อีก 14 แห่ง ได้แก่ มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยชุมชนสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา สภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มูลนิธิรากแก้ว การท่องเที่ยวและกีฬา ภาคีคนรักสงขลา สถาบันศานติธรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดประชุมวิชาการระดับชาติลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2557 ที่สถาบันการศึกษาขั้นสูงของรัฐในพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณชีวิตของประชาชนตามโจทย์ปัญหาของชุมชน โดยสร้างแรงกระตุ้นให้อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับชุมชน พร้อมทั้งรับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงจากชาวบ้านในชุมชน เพื่อจะได้ช่วยหาทางแก้ไขต่อไป