ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารราชการของประเทศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ ยุทธศาสตร์ของประเทศในยุทธศาสตร์ที่ 3 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมในยุทธศาสตร์ที่ 4
การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมการบริหารจัดการให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยังเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับส่วนราชการอื่น โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นผลภายในปี พ.ศ. 2561 อย่างน้อย 11 จังหวัด และจากการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมื่อปี 2557 ที่ผมทราบมา กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานราชการทั้ง 5 จังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศขึ้น ซึ่งในแผนแม่บทดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานหลายส่วนดำเนินการร่วมกัน ทำงานอย่างบูรณาการ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะที่มีบทบาทในการกำกับดูแล และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมก็ได้ขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน ทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยให้โรงงานมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หรือให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข พร้อมทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล หรือโครงการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนี้ก็เช่นกัน จะเป็นการนำงานหรือแผนงานที่เกี่ยวข้องมาเริ่มดำเนินการ
“การเปิดตัวโครงการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในครั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ตามกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้นำนโยบายและโครงการจากแผนแม่บทฯ ที่ได้จัดทำไว้จากโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในปีงบประมาณ 2557 โดยมี 5 จังหวัดนำร่อง คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี มาดำเนินการในด้านการบริหารจัดการและการดำเนินโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบบูรณาการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เปิดตัวในครั้งนี้ จะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีความสมดุลกับการรักษาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว
ด้าน ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น ผู้อำนวยการสำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 4 ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า โครงการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีความสมดุลอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่31 มีนาคม 2556 โดยในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง และพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ได้แก่ ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรีแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนนำเสนอจังหวัดและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณานำไปดำเนินการต่อไป รวมถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายสั่งการ เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศบรรลุผล และเกิดสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำกิจกรรมในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติการบริหารจัดการ ในแผนแม่บทฯที่ได้จัดทำไว้ ซึ่งเป็นบทบาท อำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มาดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ประกอบด้วยการตรวจประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย
การฝึกอบรมการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ CSR-DIW Awardการส่งเสริมให้สถานประกอบการสมัครเข้ารับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)การจัดตั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)พิธีเปิดตัวโครงการในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จากภาคเอกชนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จากภาคประชาชน เครือข่ายในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ดังกล่าว องค์กรเอกชน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป รวมประมาณ 400 คน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดัน และขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
“การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ซึ่งมีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของปัญหาความรุนแรงของปัญหาและสภาพแวดล้อมทางสังคม ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นอย่างสูง ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยแต่เดิมเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้เร่งรัดการผลักดันอุตสาหกรรม
เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างรุนแรง จึงต้องแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด เริ่มจากดันกฎหมายมาตรฐานประกอบการการสร้างเขตอุตสาหกรรมเฉพาะ และเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแนวใหม่มาเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมของประเทศมีความก้าวหน้าในการรักษาสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อสังคม โดยความความสำเร็จของโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การขยายพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เน้นการอนุรักษ์พลังงานและจัดการวัสดุของเสียแบบบูรณาการ
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากต่างประเทศอาจจะเป็นแนวทางเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาในประเทศไทยได้ แต่ถ้าจะให้ปฏิบัติตามทุกขั้นตอนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมและสภาพปัญหาแตกต่างกัน ยังมีจุดเด่นอยู่ในหลายด้าน เช่น กฎหมายยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดขาดเทคโนโลยีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ขาดองค์ความรู้ความเข้าใจการบูรณาการแก้ไขปัญหา
ขาดความเห็นพ้องต้องกันของทุกภาคส่วน เป็นต้น ในการกำหนดกรอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย จึงมุ่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันไปพร้อมๆ กัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ พร้อมทั้งกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับแต่ละมิติรวม 20 ด้าน
สำหรับยุทธศาสตร์เชิงบริหารในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น จะเน้นในเรื่องการจัดระเบียบให้โรงงานต่างๆ ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมพัฒนาให้มีมาตรฐานการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เพื่อให้การประกอบกิจกรรมโรงงานไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลัก 3Rs ในการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการ สวนอุตสาหกรรม เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบูรณาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการขับเคลื่อนแล้วนั้น จะมีส่วนช่วยสร้างความสมดุลกับการรักษาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเกิดเมืองน่าอยู่ เมืองที่อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืนต่อไป” ร้อยเอกธเนศ กล่าว