นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯกล่าวว่า อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะเป็นกระบวนการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเล็งเห็นว่าควรจะมีการวิจัย เพื่อให้เห็นถึงสภาวะความเป็นจริงของการอ่านในสังคมไทย จึงได้รวบรวมข้อมูลผู้บริโภคทั่วประเทศ ในประเด็นพฤติกรรมการอ่านหนังสือและการเลือกซื้อหนังสือ โดยวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อหนังสือ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต e-book/digital content ที่มีผลต่อการอ่านหนังสือเล่มของคนไทยอีกด้วย
“ในแง่ของพฤติกรรมการอ่านหนังสือ จากผลการวิจัยพบว่าร้อยละ 88 ระบุว่าอ่านหนังสือ โดยกลุ่มที่อ่านหนังสือประจำคือความถี่มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์มีเพียงร้อยละ 40.2 ของประชากร ระยะเวลาของคนไทยเฉพาะที่อ่านหนังสือใช้ในการอ่านหนังสือนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 46 นาทีต่อวัน โดยคนที่อ่านหนังสือมากที่สุดคือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ใช้ระยะเวลาการอ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 49 นาทีต่อวันและค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ในคนที่มีอายุสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปีจะกลับมาอ่านเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งส่วนประเภทเนื้อหาที่ชอบอ่าน อันดับหนึ่งคือ การ์ตูน/นิยายภาพ คือ ร้อยละ 34.4
โดยภาพรวมพบว่าปัจจัยเพศ อายุ สถานภาพ และรายได้มีผลต่อพฤติกรรมในการอ่านหนังสือ โดยหากเป็นเพศหญิง อายุน้อย สถานภาพโสด และรายได้สูง จะมีผลทำให้อ่านหนังสือบ่อยขึ้น โดยเพศหญิงมีระยะเวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยสูงกว่าเพศชาย 4 นาทีต่อวัน และผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ จะมีระยะเวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าผู้อาศัยในบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรือทาวน์โฮม เล็กน้อย”
นายจรัญยังกล่าวด้วยว่าแม้ว่าอัตราการอ่านหนังสือจะค่อนข้างสูง ทว่าสัดส่วนร้อยละ 12.0 หรือ 1 ใน 10 ของประชากรที่ระบุว่าไม่อ่านอะไรเลยก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงทีเดียว โดยให้เหตุผลหลักว่าไม่มีเวลาอ่านถึงร้อยละ 63.0
“ในแง่ของพฤติกรรมการซื้อหนังสือนั้น ซื้อเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุดคือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี โดยซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือคนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปีซึ่งเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน/นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ
ซึ่งในส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่อ่านหนังสือนั้น จำนวนร้อยละ 68.3 เคยเข้าร้านขายหนังสือ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 ซื้อไม่เกินครั้งละ 2 เล่ม มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือโดยเฉลี่ยต่อครั้งไม่เกิน 500 บาทขณะที่สถานภาพของคนโสดมีแนวโน้มซื้อนวนิยายทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่าคนที่แต่งงานแล้วแต่คนที่แต่งงานแล้วมีแนวโน้มจะซื้อหนังสือสุขภาพ อาหาร ธรรมะ และศาสนามากขึ้น และคนโสดเต็มใจในการซื้อหนังสือสูงกว่าคนที่แต่งงานแล้ว 42 บาท เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายในการขายหนังสือคือผู้ที่โสดและรายได้สูง
ทั้งนี้ ร้านหนังสือคือแหล่งที่ทำให้ทราบข่าวการออกหนังสือที่สำคัญที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.6 แต่ที่น่าสนใจคือ การแชร์ต่อจาก social media เช่น Facebook, twitter มีสัดส่วนการทำให้ทราบข่าวสูงถึงร้อยละ 24.2 จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีความสำคัญในแง่การประชาสัมพันธ์”
นายจรัญยังกล่าวด้วยว่าในส่วนของอี-บุ๊คนั้น ผลสำรวจพบว่าตลาดยังเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดหนังสือกระดาษในไทย ทว่าอินเตอร์เน็ตกลับส่งผลกระทบต่อการอ่านอย่างสูง เพราะจำนวน 2 ใน 5 ยอมรับว่าการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง โดยคนไทยกว่าร้อยละ 71 ใช้อินเตอร์เน็ตและใช้เกือบทุกวัน ซึ่งคนที่อายุน้อยกว่า 20ปีใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากกว่าอ่านหนังสือถึง 4.5 เท่า