นางสาวอนุสรี กล่าวว่า การพัฒนาสตรีผู้ประกอบการไทย ภายใต้นโยบาย AEC และ ASCC เป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ประกอบไปด้วย๓เสาหลัก คือ ความร่วมมือทางการเมือง (APC) ทางเศรษฐกิจ (AEC) และทางสังคม (ASCC) ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นผู้รับผิดชอบ ได้ตระหนักและผลักดันการเข้าร่วมประชุม ASEAN Women Entrepreneurs Forum ในครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยและผู้ประกอบการสตรีไทย ได้แสดงศักยภาพเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีในภาคอาเซียน สำหรับการจัดประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนาคม และในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ โดยเป็นการจัดประชุมและพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติสตรีผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียน เพื่อแสดงพลังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสตรีในแวดวงธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนที่จะร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ ร่วมกันสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการอาเซียนและพร้อมที่จะแข่งขัน โดยผู้ประกอบการสตรีที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ประกอบด้วย
๑. คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล หัวหน้าคณะในฐานะผู้แทนภาคเอกชน และสตรีผู้ประกอบการดีเด่นภาคธุรกิจการเกษตรและพลังงาน
๒. ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม สตรีผู้ประกอบการดีเด่นภาคการศึกษา
๓. นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากภาคประกันภัย
๔. ดร.สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
๕. น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้แทนจากภาคธุรกิจค้าปลีก
๖. นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้แทนจากภาคขนส่งทางเรือ
๗. นางวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากภาคพลังงานแสงอาทิตย์
๘. มล.ปรียพรรณ ศรีธวัช เจ้าของกิจการโรงเรียนเชียงใหม่นาฏศิลป์สากล (สถาบันเชียงใหม่บัลเล่ต์)ผู้แทนจากส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ ทางศิลปวัฒนธรรม
๙. นางธันยรัศม์ อัจฉริยฉาย รองประธานกรรมการบริหาร เครือกะตะกรุ๊ปผู้แทนจากส่วนภูมิภาค ภาคใต้ ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม
และ ๑๐. น.ส.อรุโณชา ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้แทนจากภาคธุรกิจบันเทิง
“ทั้งนี้ การประชุม ASEAN Women Entrepreneurs Forum ครั้งที่ ๑ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า ๓๐๐ คน จาก ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน และมีสตรีผู้ประกอบการ ๑๐๐ คน ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่า การเปิด AEC จะเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจของสตรีผู้ประกอบการ ทั้งในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน เพราะข้อตกลงด้านการค้าจะช่วยลดกระบวนการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการลงทุนและในภาคการผลิต ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนยังเห็นตรงกันว่า สตรีผู้ประกอบการยังต้องเผชิญปัญหา และอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมที่ยังกีดกัน และไม่ให้ความสำคัญต่อผู้หญิงในภาคธุรกิจ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติที่กีดกันผู้หญิงนี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่และเสริมศักยภาพของผู้หญิงในภาคธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น ที่ประชุมเห็นว่า การส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสตรีผู้ประกอบการอาเซียน การช่วยเหลือกัน และการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างสตรีอาเซียนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อีกทั้งการใช้เทคโนโลยี อันเป็นเสมือนเครื่องที่ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมในการติดต่อสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูล จึงต้องมีการสนับสนุน และการให้ความรู้ต่อผู้หญิงในการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ” นางสาวอนุสรี กล่าวท้าย