จากการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย สามารถแบ่งออกเป็น
1) การให้ความช่วยเหลือตามที่ดินที่ถือครอง โดยการใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการใช้ข้อมูลจากสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา
2) การให้ความช่วยเหลือตามรายได้ โดยพิจารณาข้อมูลจากความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่ได้กำหนดรายได้เฉลี่ยของคนไทยที่ยากจน ว่าเป็นบุคคลที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าคนละ 30,000 บาท/คน/ปี การประมาณการจากราคาผลผลิตทางการเกษตร ที่จัดทำโดยกรมส่งเสริมการเกษตร การใช้ข้อมูลรายได้จากผลผลิตการเกษตรและต้นทุนการผลิต จากข้อมูลสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติ และรายได้นอกภาคการเกษตร โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม
และ 3.) การให้ความช่วยเหลือตามหนี้สินเกษตรกร ใช้ข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รวมถึงหนี้นอกระบบและหนี้สหกรณ์
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รวบรวมข้อมูลเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท มีจำนวนเกษตรกร 2,025,360 ราย รายได้เฉลี่ย 11,002.14 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรจำนวน 892,758 ราย รายได้เฉลี่ย 18,184.97 บาท/ครัวเรือน กรมปศุสัตว์ มีจำนวนเกษตรกร 1,777,420 ราย รายได้เฉลี่ย 5,761.55 บาท/ครัวเรือน และกรมประมง มีจำนวนเกษตรกร 392,838 ราย รายได้เฉลี่ย 12,667.22 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้ประสานงานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยต่อไป