จับตาปัจจัยเสี่ยงทาง ศก.การเกษตรปี 58 ศูนย์ติดตามฯ แจงบทวิเคราะห์-มาตรการรองรับที่ต้องเผชิญ

จันทร์ ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๑๖
ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก พบว่ากลุ่มที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และกลุ่มที่ยังคงจับตามอง ได้แก่ รัสเซีย ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น อนาคตเศรษฐกิจของจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่ยังมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่และเป็นตลาดใหม่ที่ยังสามารถเป็นปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมหลัก หากเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มซบเซาต่อไปจึงยากที่จะเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรที่อาจเกิดขึ้น ก็จะประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศและปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ดังนี้

1. ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ประเทศไทยมีการพึ่งพาส่งออกไปยังต่างประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 60 จึงทำให้เราต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่

1.1 ปัจจัยเศรษฐกิจโลก (World Economy) ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ยังคงมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศผู้นำ มีแนวโน้มขยายตัวและการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีการคาดการณ์ ปี 2559 ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจจะยังคงมีการขยายตัวต่อไป ดังนั้น เศรษฐกิจไทยก็ยังมีอัตราเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่น้อยลงไปด้วย

1.2 ปัจจัยทิศทางระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (New World Order) การจัดระเบียบโลกใหม่ ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ การแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการ กีดกันการค้าระหว่างประเทศ และแสวงหาประโยชน์จากประเทศอื่นๆ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย มีการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุนด้วยเหมือนกัน

1.3 ปัจจัยระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก (World crude oil price) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเจริญเติบโตไม่มาก ทำให้แนวโน้มของราคาน้ำมันยังคงตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2558 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในช่วง 40 – 50 ดอลลาร์/ บาร์เรล เมื่อเทียบกับ80 ดอลลาร์/บาร์เรลของเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและคาดว่าแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงทรงตัวและอาจมีแนวโน้มลดลง

1.4 ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Exchange Rate)ในปี 2558 คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆ ซึ่งผลของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง เนื่องจากสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยที่ขายในตลาดโลก มีการค้าขายกันโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งในอนาคตมีทิศทางที่อาจไม่ต้องพึ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็เป็นได้ เช่น ประเทศอิหร่าน ที่มีการประกาศเลิกระบบการใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการไปแล้ว ดังนั้นบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐสำหรับประเทศยังมีความสำคัญอยู่ ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนที่มีปริมาณมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรด้วย

1.5 ปัจจัยระดับดัชนีราคาอาหารโลก เป็นสิ่งที่บ่งบอกความผันผวนในราคาอาหาร ที่ผ่านกลไกราคาอาหารในตลาดโลก จากความสมดุลด้านความต้องการและการผลิตอาหาร รวมทั้งขบวนการผลิต อาหารด้วย จะส่งผ่านระดับดัชนีราคาอาหารโลก พบว่า แนวโน้มระดับดัชนีราคาอาหารโลกในปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบทางการเกษตรไม่มาก และคาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะดีขึ้น

สำหรับแนวทางการพัฒนาและมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงภายนอก ประกอบด้วย

(1) แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2558-2559 ยังคงมีการติดตามความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและการปรับตัวที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีอัตราเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนตามไปด้วย

(2) ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือใหม่ๆในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างความเข็มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจในกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) เพื่อสร้างอำนาจความเข็มแข็งในการต่อรองทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ด้วย

(3) ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเพื่อหามาตรการหรือเครื่องมือดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งผลกระทบในด้านอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่ภาคการส่งออก แต่ยังมีสาขาการผลิตอื่นๆจะยังคงได้รับผลกระทบ โดยการผลิตภาคเกษตรด้วย

2.ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศทางเศรษฐกิจการเกษตรที่เกิดขึ้นประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการผลิตสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ดังนี้

2.1 ปัจจัยภัยธรรมชาติ (Natural Disaster) ปัญหาภัยธรรมชาติหลัก คือ ปัญหาภัยแล้งที่แสดงโดยปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่สำคัญ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และเขื่อนอื่นๆ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม ดังเช่น ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เหลือปริมาณที่ใช้ได้จริงประมาณร้อยละ 15 ปริมาณน้ำโดยภาพรวมสามารถมีน้ำใช้ได้จริงประมาณร้อยละ 26 เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำในปีนี้มีน้อย

2.2 ปัจจัยแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร (Price) แนวโน้มดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ประกอบด้วยสินค้าหลายชนิด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชสำคัญอื่นๆ ยังคงมีระดับราคาที่ยังทรงตัว แม้ว่าระดับราคาในตลาดโลกจะแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ตลาดภายในประเทศยังต้องมีการปรับตัวอยู่ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและระบบอาหารโลกที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จุดใหม่ในปัจจุบัน จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ามารุมเร้าจนก่อให้เกิดการถีบตัวสูงขึ้นของราคาอาหารและความผันผวนของอุปทานอาหารโลก กอปรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), ภัยธรรมชาติ, การเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา และ ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทในการกำหนดราคาและการไหลเวียนของอุปทานอาหารในวงจรภาคเกษตรและอาหารโลกในอนาคต

2.3 ปัจจัยการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้ารวม (Total Export) สินค้าเกษตรนับเป็นสินค้าหลักที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกจำเป็นขยายฐานทางการตลาดให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย ดังนั้น การส่งออกสินค้าเกษตรจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์สุดท้าย จนถึงมือผู้บริโภค ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

2.4 ปัจจัยคู่แข่งทางการตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตร ประเทศไทยมีจุดแข็งในการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพราะประเทศไทยจะมีผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าการบริโภคในประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และสินค้าอื่นๆ เป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่ในปัจจุบันมีประเทศอื่นๆที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของโลก จึงทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจำต้องพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พัฒนาคุณภาพสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่งทางการค้า เพื่อจะสามารถทำให้เพิ่มยอดปริมาณสินค้าเกษตรขายได้ในตลาดมากขึ้น

2.5 ปัจจัยแรงงานภาคการเกษตร (Labour) ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มแรงงานภาคการเกษตรยังมีขาดแคลนเป็นจำนวนมาก กอปรแนวโน้มอายุของเกษตรกรก็สูงขึ้น กล่าวคือ ภาพรวมปี 2542-2556 จำนวนประชากรภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.98 (จาก 26.20 ล้านคน ในปี 2542 ลดเหลือ 21.79 ล้านคน ในปี 2556) ขณะเดียวกันจำนวนแรงงานเกษตรลดลงจาก 18.90 ล้านคน ในปี 2542 เหลือ 16.20 ล้านคน ในปี 2556 และอายุแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรเกษตรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.8 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 34.79 ในปี 2556

ดังนั้น ภาคเกษตรจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากแรงงานมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่านอกภาคเกษตร ความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาพรวมของปริมาณการผลิตอาหารของไทยในระดับที่รุนแรงกว่าปัจจัยอื่นๆ อีกทั้งภาคเกษตรมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันเชิงเศรษฐกิจและสังคมกับภาคการผลิตอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของไทยในตลาดสินค้าเกษตรและอาหารโลกบางส่วนสามารถนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนได้ ในขณะที่แรงงานบางส่วนเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทดแทน จะเห็นได้จากแนวโน้มแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.6 ปัจจัยการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร (Agriculture New Innovation) แนวโน้มของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคสำหรับสินค้าดี มีคุณภาพ ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ดังเช่น เทคโนโลยีจากเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ รถปักดำข้าว เครื่องคัดแยกคุณภาพผลผลิต และนวัตกรรมเกษตรอื่นๆ

2.7 ปัจจัยหนี้ครัวเรือนภาคเกษตร/นอกภาคเกษตร และหนี้สาธารณะของประเทศไทย (Public Debt) ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่อการผลิตสินค้าเกษตรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าหนี้สินครัวเรือนทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงพอสมควร ขณะที่ภาระหนี้ส่วนรวมของประเทศ ได้แก่ หนี้สาธารณะของประเทศไทย (Public Debt) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 คงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 5,623,973.83 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.84 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ปกติ และรัฐบาลได้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง(สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 2558)

สำหรับแนวทางการพัฒนาและมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงภายในประกอบด้วย

(1) ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำ ความชื้น ที่ส่งผลทำให้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก จำต้องมีการปรับตัวสำหรับการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพให้มากสุด และเตรียมพร้อมในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

(2) การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร แม้ว่าแนวโน้มดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา จะยังคงทรงตัว จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรเพื่อให้สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

(3) การส่งออกสินค้าเกษตร เน้นหรือให้ความสำคัญกับพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบสินค้าของไทย ให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

(4) คู่แข่งทางการตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตร ประเทศไทยเรามีจุดแข็งในการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลก ดังนั้นการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่งทางการค้า เพื่อจะสามารถทำให้เพิ่มยอดปริมาณสินค้าเกษตรขายได้ในตลาดโลกมากขึ้น

(5) เน้นการพัฒนาแรงงานฝีมือ/บุคลากรภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องส่งเสริม สนับสนุนและการสร้างโอกาสแรงงานภาคการเกษตร ให้ได้รับองค์ความรู้ ปัจจัยอื่นๆทางการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การศึกษาในระบบครบทุกระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานฝีมือ/บุคลากรภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อลดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ

(6) เร่งรัด ส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร สนับสนุนการเพิ่มงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแนวทางในการนำไปปรับใช้ได้จริงจากการวิจัยและพัฒนาด้วย

(7) แนวทาง มาตรการ นโยบายในการเร่งรัดการลดภาระหนี้ครัวเรือนภาคเกษตร/นอกภาคเกษตร และหนี้สาธารณะของประเทศเพื่อให้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนลดลง เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศการปรับโครงสร้างหนี้ภาคการเกษตรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะภาคเกษตรต้องเผชิญกับภาวะปัจจัยเสี่ยงเป็นอย่างมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ