สถาบันเอธิสเฟียร์ยกย่องบริษัทที่ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและปฏิบัติตามกฏเกณฑ์อย่างเคร่งครัด รวมถึงการเป็นพลเมืองที่ดีและรับผิดชอบต่อสังคม มีวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม การควบคุมดูแลและความเป็นผู้นำขององค์กร นวัตกรรมและชื่อเสียงองค์กร
งานวิจัยพบว่า ชื่อเสียงในด้านจริยธรรมของบริษัทมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทที่มีจริยธรรมสูงสุดของโลกประจำปี 2015 จากสถาบันเอธิสเฟียร์การประกาศรางวัลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความสำคัญเทียบเท่ากับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการให้บริการ
“รางวัลดังกล่าวสนับสนุนให้แต่ละองค์กรประกอบธุรกิจและตัดสินใจในแนวทางที่ถูกต้อง” มร. บิล ฟอร์ด ประธานบริหารฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “จริยธรรมและการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชื่อเสียงและความสำเร็จของบริษัท เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ฟอร์ดเป็นบริษัทรถยนต์เพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6”
สถาบันเอธิสเฟียร์เป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์การพิจารณาการให้รางวัลบริษัทที่มีจริยธรรมสูงสุดของโลก โดยประเมินมาตรฐานการทำงานของแต่ละองค์กรจากวัตถุประสงค์ ความสม่ำเสมอและวิธีที่ได้มาตรฐาน รางวัลดังกล่าวพิจารณาคะแนนสูงสุดใน 5 หัวข้อ ได้แก่ การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและปฏิบัติตามกฏเกณฑ์อย่างเคร่งครัด การเป็นพลเมืองที่ดีและรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม การควบคุมดูแลและความเป็นผู้นำขององค์กร นวัตกรรมและชื่อเสียงองค์กร
“องค์กรที่ได้รับรางวัลมาตรฐานทางจริยธรรมสูงสุดของโลกนี้ได้ประสานการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมเข้ากับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ” มร.ทิโมธี เออร์บลิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอธิสเฟียร์ กล่าว “การที่องค์กรได้รับรางวัลนี้เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของพนักงานทุกระดับในทุกส่วนทั่วโลก เราขอแสดงความยินดีกับพนักงานทุกคนของฟอร์ดสำหรับความสำเร็จอันยอดเยี่ยมในครั้งนี้”
รางวัลเกียรติยศนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าชื่อเสียงด้านจริยธรรมและความน่าเชื่อถือขององค์กรมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยจากผลการสำรวจของสถาบัน Harris Poll Reputation Quotient ในปีที่แล้วพบว่า ร้อยละ 53 ของชาวอเมริกันทำการศึกษาเพื่อเรียนรู้ข้อมูลของแต่ละองค์กรก่อนตัดสินใจร่วมทำธุรกิจกับองค์กรนั้นๆ และมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามตัดสินใจไม่ทำธุรกิจร่วมกับองค์กรที่มีชื่อเสียงในแง่ลบ
ฟอร์ดเล็งเห็นว่าแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมนี้ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคกลุ่มที่มีอายุน้อย จากงานค้นคว้าวิจัยของบริษัท Spark & Honey พบว่า ร้อยละ 54 ของผู้คนในยุคเจเนอเรชั่น แซด (Z) หรือที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1993 จำนวน มีความตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกมากกว่าผู้ที่เกิดในยุคมิลเลเนียล (Millennials) และต้องการที่จะประกอบธุรกิจกับบริษัทที่มองเห็นความสำคัญและคุณค่าร่วมกัน
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏเกณฑ์และรายชื่อบริษัททั้งหมดที่ได้รับรางวัลมาตรฐานจริยธรรมสูงสุดของโลกในปี 2015 ได้ที่ http://ethisphere.com/worlds-most-ethical/wme-honorees/